วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551

การลำส่อง (ลำผีฟ้า) รักษาโรค

การลำส่อง หมายถึง การลำหาข้อผิดข้องหมองใจ ข้อผิดพลาดของผู้ป่วย หาสาเหตุของการป่วย คนไข้บางคนอาจมีการดูหมอหรือทางอิสานเรียกว่าดูมอก่อน เมื่อหมอมอ (หมอดู) ชี้ว่าเกิดจากผี ควรเอาลำทรงมารักษา ญาติพี่น้องของผู้ป่วยก็จะไปติดต่อคณะหมอลำทรงมาทำการรักษา หมอลำทรงทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้จะใกล้หรือไกลก็ต้องไป ค่ารักษานอกจากคายแล้วจะเรียกร้องไม่ได้ แต่ผู้ที่มาติดต่อก็ทราบโดยการสอบถามบริวารใกล้ชิดว่าควรจะตอบแทนเท่าไหร่ หัวหน้าคณะรวมทั้งชาวคณะจะช่วยกันสอบถามประวัติคนไข้อย่างละเอียด เช่น อาการเป็นอย่างไร เคยรักษาด้วยวิธีใด จากที่ไหนบ้าง ผลเป็นอย่างไร ญาติพี่น้องเป็นอย่างไร การทำมาหากินมีความขัดแย้งกันอย่างไรบ้าง และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง เมื่อตกลงวันเวลากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางด้านเจ้าภาพก็เดินทางกลับมาจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องคายรักษาอาหารการกิน ฝ่ายคณะหัวหน้าก็จะทำพิธีบอกกล่าวครูบาแล้วเชิญไป ณ ที่จะทำการรักษา เมื่อไปถึงบ้านผู้ป่วย ญาติพี่น้องจัดเตรียมคายรักษาไว้เรียบร้อยแล้ว หัวหน้าก็จะลำบูชาครูบาก่อนแล้วเชิญผีมาเทียม การลำส่องจะใช้เวลายาวนานมาก เนื่องจากหัวหน้าจะต้องลำถามผีไล่เรียงกันไป ผีไร่ ผีนา ผีป่า ผีภู ผีปู่ตา หรือผีหลักเมือง ถ้ายังไม่เจอก็จะถามไปเรื่อย ๆ เมื่อผู้ป่วยผิดผีตนใด ผู้เข้าทรงจะแสดงอาการ เช่น ตัวสั่นอย่างแรง แสดงอาการโกรธพูดจาด้วยเสียงอันน่ากลัว บริวารในคณะก็จะพูดขออ่อน ขอยอม ขอโทษ ต่าง ๆ นานา จะแก้ไขในสิ่งไม่ดี ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกันไปถึงญาติพี่น้อง ทุกคนก็จะเข้ามารับปากรับคำว่าจะทำตาม เพื่อผ่อนคลายไปในทางที่ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือ เครื่องบูชาผีตนนั้น หลังจากผีใจอ่อนยอมผ่อนปรนให้แล้วก็จะออกจากร่างทรงไป หัวหน้าจะผูกข้อผู้แขนผู้ป่วย แล้วแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวให้และนัดวันที่จะมาทำการรักษาต่อไป ในบางครั้งผู้ป่วยเพียงแต่ผิดที่บ๋า (บน) แล้วไม่ปง (ไม่แก้บน) หัวหน้าคณะก็จะบอกให้แก้บนซะก็จะเสร็จ ไม่ต้องมารักษา ยกเว้น ว่าแก้บนแล้วยังไม่หายดี

ความเป็นมาและความสำคัญของการลำส่อง (ลำผีฟ้า)

ความเป็นมาและความสำคัญของการลำส่ง (ลำผีฟ้า)
หมอลำส่องหรือลำผีฟ้า เป็นหมอไสยศาสตร์หรือหมอผีประเภทหนึ่งที่รักษาด้วยความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา หมอลำผีฟ้ารักษาผู้ป่วยโดยใช้อำนาจเหนือธรรมชาติของผีฟ้า เพื่อที่จะให้ผีออกจากร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาด้วยความเชื่อเรื่องผีมักจะถูกมองว่าไร้เหตุผล โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์มักจะมีทัศนว่า “ผี” หรืออำนาจเหนือธรรมชาติเป็นความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล หมอพื้นบ้านไม่มียาสมุนไพรและตำราโหราศาสตร์จะรักษาพยาบาลด้วยความเชื่อและพิธีกรรมได้อย่างไร จากสภาพความเชื่อและสภาพการณ์การเข้ารับการรักษาพยาบาลของชาวชนบทดังกล่าว ทำให้ตั้งประเด็นที่สำคัญในการสืบค้นและเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้ คือ ทำไมยังมีผู้นิยมไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บกับหมอลำผีฟ้า และการลำผีฟ้าจะทำให้ผู้ป่วยหายจริงหรือไม่และการรักษาด้วยพิธีกรรมความเชื่อนี้ยังปรากฏให้เห็นอยู่ที่ใดบ้างในจังหวัดชัยภูมิ เท่าที่สืบค้นจะเห็นและพบว่ามีมากที่หมู่บ้านหนองบัวบาน ตำบลหนองบัวบาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ
ความหมาย
การเล่านิทาน โดยใส่ทำนองเข้าไปด้วย เรียกว่า “ลำ” เคยมีนักวิชาการหลายท่านให้ข้อสันนิษฐานว่า “ลำ” น่าจะมาจากคำว่า ลำนำ “ลำ” คือการนำกลอนมาร้องเป็นทำนอง ซึ่งจะมีหลายรูปแบบหลายสำเนียง

การเกิดลำทรงลำส่อง (ลำผีฟ้า)

การเกิดลำทรงลำส่อง (ลำผีฟ้า)
วิถีชีวิตหรือที่เรียกว่าวัฒนธรรมของชาวอีสานนั้น เป็นไปตามคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาเชื่อว่ามีผี มีเทพ มีเทวดา มีพระอินทร์ พระพรหม ชาวอีสานเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีผีเฝ้าที่ ผีเป็นผู้ดูแลต้องมีการทำพิธีขอขมาโทษแล้วผีจะยกโทษให้แล้วอาการเจ็บป่วยก็จะหายการเจ็บป่วย ในสมัยอดีตจะมีการรักษากันด้วยแพทย์แผนโบราณ คือ ยาพื้นบ้าน ชาวอีสานเชื่อว่ายาพื้นบ้าน สามารถรักษาโรคได้ทางกายทุกอย่าง ถ้ารักษาด้วยยาพื้นบ้านไม่หาย หรือบางท้องถิ่นไปรักษาแผนปัจจุบันแล้วไม่หาย ชาวบ้านว่าต้องมี ผีมาต้อง จะต้องรักษาด้วยวิธีการพูดจากับผี การรักษาอาการที่เกิดจาก ผีต้อง มี ๒ ทางคือ
๑. การอยู่กับธรรม เป็นการอาศัยธรรมเข้ามาขับไล่ผีทุกอย่างทุกชนิด คือ การปฏิบัติธรรมถือศีล มีหมอธรรมเป็นผู้ดูแลรักษา หมอธรรมจะใช้ฝ้ายผูกแขนแล้วสวดมนต์เสกเป่าน้ำให้ดื่มพร้อมทั้งพูดจาอบรมสั่งสอนต่าง ๆ นานา หมอธรรมที่มีอาคมแก่กล้า มีคนยกย่องเชื่อถือมาก ๆ ก็รักษาได้ไม่ยาก เพียงแต่ว่าการอยู่กับธรรมค่อนข้างจะลำบากเรื่องข้อห้ามหรือที่ชาวอีสานเรียกว่า คะลำ รวมทั้งการประพฤติธรรมด้วย
๒. การอยู่กับผีโดยการลำรักษา การอยู่กับผีเป็นวิธีการที่ชาวบ้านชอบมาก นอกจากจะได้มีการรวบญาติแล้ว ยังมีการร้องรำทำเพลงกันสนุกสนานไปด้วย การลำรักษาแบ่งชั้นกันไว้ ๒ ระดับ
๒.๑ ลำทรง การรักษาด้วยลำทรงเป็นวิธีการแรกที่ชาวบ้านเลือก ผีที่มีมาทำให้เจ็บป่วยนั้น ชาวบ้านถือว่าเป็นผีที่อยู่ในโลกมนุษย์ เช่น ผีเมือง ผีภู ผีป่า ผีตาแฮก ผีเซื่อ ผีบ้าน ผีปู่ตา ผีน้ำ เป็นต้น หัวหน้าคณะลำทรงจะเป็นผู้เข้าทรง โดยอันเชิญผีทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของคนไข้มาเข้าทรง จากนั้น จะให้ลูกน้องผู้เป็นบริวารเป็นผู้ถาม เช่นถามว่าเจ้าเป็นผีอะไร มาจากไหน มาทำให้คนเจ็บป่วยด้วยอันใด หรือญาติพี่น้องไปทำผิดอันใด ปกติแล้วจะมีการลำส่องก่อนว่าผีตนใดทำให้เจ็บป่วย ถ้าส่องแล้วเป็นผีที่อยู่ในโลกมนุษย์จึงจะลำทรงรักษา ผีที่เข้ามาทรงจะบอกหมดว่าทำผิดอันใด และวิธีแก้ไขต้องทำการขอขมาอย่างไร เครื่องเซ่นไหว้มีอะไรบ้าง
๒.๒ ลำผีฟ้า การรักษาด้วยผีฟ้ามีอยู่ ๒ สาเหตุ คือ รักษาด้วยลำทรงแล้วไม่หาย ผีต่าง ๆ ไม่ยอมยกโทษให้ หรือผีมีความแก่กล้าเกินไปไม่ยอมรับการขอขมา จำเป็นต้องเชิญผีฟ้าลงมาช่วยรักษาเยียวยา เพราะผีฟ้ามีอิทธิฤทธิ์มากกว่า เป็นผีที่กำหนดชะตาชีวิตมนุษย์และอยู่เหนือกว่าผีทั้งปวงนี้ อีกอย่างหนึ่งเมื่อลำส่องดูแล้วปรากฏว่าอาการเจ็บป่วยนั้นเป็นการผิดต่อผีฟ้า ไม่ใช่ผีในโลกมนุษย์ ก็จะเข้าทรงอันเชิญผีฟ้าลงมารักษา การรักษาด้วยลำผีฟ้าจึงแก่กล้ากว่าลำทรง นอกจากนี้การลำผีฟ้ารักษายังต้องข้อห้าม (คะลำ) มากมาย เช่น ห้ามใครยืมของในบ้าน ห้ามใครมาขอสิ่งของ ห้ามผู้ชายมาข้องแวะแตะต้องคนไข้ และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ลำส่องเป็นการดูมอ (ดูหมอ) เพื่อเป็นการวินิจฉัยปัญหาของชาวอีสาน

ขนบประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับลำส่อง (ลำผีฟ้า)

ขนบประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับลำส่อง (ลำผีฟ้า)
ความเชื่อที่เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บนั้น เกี่ยวข้องกับสาเหตุ ๒ ประการ คือ สาเหตุที่เกิดตามธรรมชาติ เช่น ภูมิอากาศทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนสาเหตุที่เกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาตินั้น มีหลายประเภท เช่น การถูกผีทำ การถูกคนทำด้วยวิธีทางคาถาอาคม ชะตา กฎแห่งกรรม และการผิดขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ ซึ่งต่างก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ตามความคิดความเชื่อของชาวบ้าน เมื่อมีเหตุเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องหาวิธีการรักษาพยาบาลตามสาเหตุของโรคนั้น ชาวอีสานจะเชื่อถือศรัทธา “ผีฟ้า” ว่าสามารถที่จะบันดาลทุกสิ่งได้ แม้แต่การเกิดการตายของมนุษย์ ตลอดจนเป็นผู้กำหนดโชคชะตากรรมของมนุษย์ขณะที่มีชีวิตอยู่บนโลก และเชื่อว่าผีบรรพชนกับผีฟ้านั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เชื่อว่ามนุษย์มีขวัญประจำตัวอยู่ทุกคน เมื่อตายลงขวัญจะออกจากร่างไปพบบรรพชนและจะเดินทางไปยังเมืองฟ้าเพื่อไหว้ผีฟ้า

ลักษณะและวัฒนธรรมของชาวบ้านหนองบัวบาน

ลักษณะและวัฒนธรรมของชาวบ้านหนองบัวบาน
บ้านหนองบัวบานก็คือชนบทอีสานทั่วไป ที่คนหนุ่มสาว และคนที่มีการศึกษาทิ้งถิ่นฐานไปทำงานในเมือง ปล่อยให้คนแก่เลี้ยงเด็กอยู่บ้าน ส่วนคนหนุ่มสาวที่เหลือคือคนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คนเหล่านี้มีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษา ความรู้ที่จะรักษาตัวเองให้ถูกสุขลักษณะจึงมีน้อย อาชีพเกษตรกรฝากชีวิตไว้กับธรรมชาติ เกษตรกรจึงเคารพธรรมชาติว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เกษตรกรแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณด้วยการเลี้ยงผีไร่ ผีนา เชื่อว่าผีไร่ ผีนานี่เองเป็น
ที่มาทำให้เกษตรกรเจ็บป่วย
ศาสนาความเชื่อ ประเพณีของหมู่บ้านหนองบัวบาน
สังคมเกษตรกรรมถิ่นนี้มีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิดนี้เป็นการกระทำของวิญญาณหรือผี ต้องรักษาด้วยการลำส่อง แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย ลำผีฟ้าเป็นการเซ่นสรวงต่อผีฟ้าหรือเทวดา ที่สถิตอยู่บนท้องฟ้า เพื่อขอความเป็นลัทธิร่างทรงให้ลงมาช่วยปัดเป่าทุกข์โศก โรคภัยแก่ชาวบ้านที่มาชุมนุมในพิธี
เมื่อสมัยที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังไปไม่ถึงถิ่นทุรกันดาร นอกจากการรักษาแบบพื้นบ้าน เช่น การใช้สมุนไพรที่ได้ทั้งจากพืชและสัตว์แล้ว ยังมีการรักษาเชิงจิตวิทยาอีกประเภทหนี่ง เป็นต้นว่าการไล่ผี การบนบานศาลกล่าว และ การลำผีฟ้า
จะด้วยเพราะการเซ่นไหว้หรือการรำผีฟ้าหรือไม่ ไม่มีใครทราบแน่ ต่างคนต่างคิดและเชื่อไปต่าง ๆ นานา แต่ข้อสังเกตก็คือ ตอนทำพิธีนั้นมีการรำและเล่นดนตรี หากจะลากเข้าความเรื่องดนตรีบำบัดก็คงจะได้ และการมาชุมนุมของลูกหลานและเพื่อนบ้าน มีนัยแอบแผงที่นอกจากจะมาเพราะอยากรู้อยากเห็น ยังมาด้วยความปรารถนาอยากจะให้คนเจ็บได้หายจากความทรมานและ “ลุ้น” ว่าผีฟ้านั้นจะติดต่อกับวิญญาณได้ผลอย่างไร ก็น่าจะส่งผลให้เกิดกำลังใจให้กับคนเจ็บบ้างอย่างแน่นอน ภาพที่เพื่อนบ้านเข้ามาพูดคุยปลอบโยนน่าจะมีผลให้แรงใจกับคนไข้ได้ตามสมควรที่เดียว ซึ่งก็คงเป็นผลทางจิตวิทยาได้เหมือนกัน
ในอดีตพุทธศาสนายังไม่แผ่ขยายเข้ามา ชาวอีสานเชื่องเรื่องผีอย่างมากมาย เชื่อว่าผีฟ้าหรือผีที่อยู่บนฟ้า เป็นผีที่ได้สร้างสมบรมีคุณความดีไว้มาก จึงได้ไปเกิดบนเมืองฟ้า เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามาถึงชาวอีสาน ความเชื่อเรื่องผีที่อยู่บนฟ้าจึงมีเพิ่มขึ้น แล้วก็มีเทวดา พระอินทร์
พระพรหม แต่พิธีกรรมยังคงมีอยู่

ลักษณะเฉพาะของลำส่อง (ลำผีฟ้า)

ลักษณะของลำส่อง (ลำผีฟ้า)
หมอลำผีฟ้า มีอยู่ ๒ ประเภท
๑.การยอมรับเป็นผีฟ้าด้วยความสมัครใจ ครูบาอาจารย์ก็ยอมรับลูกศิษย์จึงได้ทำพิธียกฮ่านให้
๒.เกิดจากความต้องการของผีฟ้า ประเภทนี้จะพบว่าผู้ที่จะมารับตำแหน่งหมอลำผีฟ้าจะเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมาก่อน แล้วได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุของการเจ็บป่วยว่ามาจากการกระทำของผีฟ้า ซึ่งอยากให้ผู้ป่วยมาเป็นหมอ หากไม่ยอมรับอาการป่วยก็จะไม่หาย
ลักษณะของประเภทแรกนั้น ผู้เป็นลูกศิษย์ต้องติดตามอาจารย์ไปรักษาผู้ป่วยและช่วยจัดอุปกรณ์ในพิธีกรรมอยู่หลายปี อาจารย์จึงได้อนุญาตให้เป็นผู้สืบทอดวิชาได้ ส่วนลักษณะของ
ประเภทที่สองนั้นได้รับคำอธิบายว่าผีฟ้าต้องการให้เป็นหมอซึ่งจะปฏิเสธไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะไม่อยากทำหน้าที่หมอก็ตาม นอกจากนั้นเมื่อยอมรับความเป็นหมอลำผีฟ้าแล้ว ต้องมีการปฏิบัติตามธรรมเนียมให้ถูกต้องด้วย ถ้าทำไม่ถูกต้องก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมาอีก

องค์ประกอบของลำส่อง (ลำผีฟ้า)

องค์ประกอบของลำส่อง (ลำผีฟ้า)
หมอลำทรงและหมอลำผีฟ้าจะมีองค์ประกอบที่คล้ายกันมาก จะแตกต่างกันบางเรื่องของคายและผีที่เชิญมาเทียบหรือมาเข้าทรง
บุคลากรในคณะ
๑. หัวหน้าคณะ (ครูบา) ผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะหรือครูบานั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการครอบมาจากครูแล้ว การลำทรงและลำผีฟ้าจะมีการสืบทอดกันเป็นช่วง กล่าวคือ เมื่อหัวหน้าคณะคนก่อนมีอายุมากไม่สะดวกต่อการไปมา ก็จะมอบหน้าที่ให้ศิษย์เอกที่ถือว่าเป็นฉลาดหลักแหลมที่สุด
สามารถจะดำเนินการต่อจากหัวหน้าคนเก่าได้ก็จะทำพิธีครอบครูให้ เป็นการมอบตำแหน่งหัวหน้าให้โดยการจัดทำหิ้งบูชาไว้ที่บ้าน แล้วอัญเชิญผีต่าง ๆ จึงต้องเรียกว่า “อ้ายพี่” หรือ อ้ายที่คำผิว อ้ายพี่สีทน เป็นต้น
๒.ชาวคณะ ถือเป็นบริวารที่มีประสบการณ์สูงร่วมเดินทางไปรักษาคนไข้ด้วย ประมาณ ๒-๔ คน บริวารที่รับใช้ใกล้ชิด พี่จะถูกเรียกให้เป็นหัวหน้าคนต่อไปก็อยู่ในจำนวนนี้ ชาวคณะเหล่านี้จะช่วยกันลำเชิญผี เมื่อผีเข้าเทียมหัวหน้าแล้วก็จะเป็นคนถามไถ่ผีต่าง ๆ นานา ซึ่งแตละคนจะมีผีประจำตัว เช่น สีทน มโนราห์ ท้าวคำผิว เป็นต้น
๓.หมอแคน บางทีเรียกว่า หมอม้า เป็นผู้ขับม้า ม้าก็คือเหล้า ม้าขาวคือเหล้าขาว ม้าแดงคือเหล้าสี เช่น แม่โขง ม้านิล คือ เบียร์ เหล้าที่อยู่นอกคาย หมอคายส่วนใหญ่ไม่ชอบเป่าแคนให้หมอลำผีฟ้าเพราะเหนื่อย เนื่องจากการลำทรงผีฟ้าใช้เวลานานและเป่าแคนไม่ได้หยุดพัก รายได้หรือค่าใช้จ่ายก็น้อย หมอแคนส่วนใหญ่ก็ติดเหล้างอมแงม
คายรักษา
เครื่องคายรักษาของแต่ละคณะจะไม่ค่อยเหมือนกันนัก คงเป็นเพราะครูสอนครอบให้ต่างกันหรือบางครั้งหาไม่ได้ อย่างเช่น ดอกจำลาว (ดอกลั่นทม)

คายรักษาหมอลำ หมอลำผีฟ้า
- ขันหมากเบ็งพร้อมฝ้ายผูกแขน (บายศรีขนาดเล็ก)
- ขัน ๕ (ดอกไม้ ๕ คู่ เทียน ๕ เล่ม)
- ซิ่นผืน
- แพรวา (ผ้าขาวม้า ๑ ผืน)
- เหล้า ๑ ขวด
- ไข่ ๒ ใบ (บางคณะใช้ใบเดียว)
- หวี ๑ อัน
- กระจก ๑ บาน
- เงิน หนึ่งสลึง
- ห่อนิมนต์ (เทียน ๒ เล่ม ดอกไม้ ๒ ดอก ห่อด้วยใบกล้วย)
- ซวย ๕ อัน (ใบตองทำเป็นกรวย) แต่ละอันมีเทียน ๑ คู่ ดอกจำปาลาว ๑ คู่
- มาลัยดอกจำปาลาว ถ้าเป็นผีฟ้าใช้ดอกมะละกอต้นตัวผู้

บริวาร
ผู้ที่เคยผ่านการรักษามาแล้ว ทุกคนถือเป็นบริวารของผีทรงและของผีฟ้า เวลาคณะหมอลำ
ทรงลำผีฟ้าไปลำ ณ ที่ใด ถ้าไม่ห่างไกลเกินไปบริวารเหล่านี้ก็จะไปร่วมพิธีด้วย นำดอกไม้เทียนและสิ่งของต่าง ๆ ไปร่วมบูชาด้วย บางคนอาจมีอาการไม่สบาย ก็จะแต่งคายรักษาไปร่วมด้วย แม่หมอจะบอกหรือพูดกับผีให้มาช่วยรักษาบริวาร ทุกคนต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมของผีฟ้าอย่างเคร่งครัด จะไม่มีเครื่องของขลังใด ๆ มาถือติดตัว พิธีกรรมนั้นจะได้สนุกสนานทั้งฟ้อนรำได้อย่างอิสระ บางแห่งมีบริวารมาก ๑๐ – ๒๐ คน เข้าพิธีด้วย ผู้ชมก็ได้ชมได้ฟังและสนุกไปด้วยอยู่บ้าง
พร้อมกับเห็นอกเห็นใจและเอาใจช่วยคนไข้ด้วย เป็นการให้กำลังใจแก่คนไข้
ผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่มาทำการรักษาด้วยหมอลำทรงลำผีฟ้านั้น ปกติจะผ่านการรักษาทางกายมาก่อน จะมีทางรักษาแบบพื้นบ้าน ถ้ารักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนโบราณไม่หายต้องเป็นเรื่องของผีแน่นอน ต้องลำรักษาจึงจะหาย ชาวบ้านคิดว่าการพูดกับผีนั้นไม่ยาก แต่ต้องอาศัยจ้ำหรือแม่หมอทรงมาช่วยพูดให้ โดยยินดีจัดเครื่องบูชาและปฏิบัติตามคำแนะนำของผีทุกอย่าง เขาถือว่าสาเหตุที่เจ็บป่วยนั้นเกิดจากผี จะต้องดูแลด้วยวิธีเชิญผีมารักษาดูแล โดยยอมเป็นบริวารของผีตั้งแต่มีชีวิตอยู่ มีบางคนเกิดความเชื่อเกิดความศรัทธาต่อผี ยอมเข้ามาเป็นบริวารทั้ง ๆ ที่ยังไม่เจ็บป่วยอะไร คือ ยังไม่ทันป่วยก็เลือกที่จะอยู่กับผีฟ้า หรือจะไปอยู่กับธรรม
การแต่งกาย
ในเรื่องการแต่งกาย เท่าที่พบเห็นมาไม่แน่นอน เห็นแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ใหม่ ๆ บางคณะจะมีผ้าสไบพาดบ่า หรือผ้าขาวม้าพาดบ่า นุ่งซิ่นใหมมัดหมี่ มีดอกไม้ทัดหู แต่บางคณะก็ใส่เสื้อผ้าธรรมดา มีบางคณะผีเป็นผู้บอกว่าให้แต่งตัวอย่างไร ผู้ป่วยต้องแต่งตามคำแนะนำของหัวหน้าคณะ จึงจะถือว่าเข้าเป็นบริวาร คณะที่แต่งตัวธรรมดานั้น การเข้าเป็นสมาชิกคือ มานั่งอยู่ต่อหน้าคายรักษา แล้วหันน้าเอาฝ้ายผูกแขนก็ถือว่าเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ในคณะลำทรงส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่สูงอายุแล้ว การที่จะแต่งตามลักษณะตัวละครเหมือนลำหมู่คณะคงจะไม่เหมาะ

ลักษณะกลอนลำ การฟ้อนและทำนองลำ

ลักษณะกลอนลำ การฟ้อน และทำนองลำ
ลักษณะกลอนลำ
ลักษณะของกลอนลำทรงและกลอนลำผีฟ้านั้น ไม่แน่นอนบางครั้งก็ลำเป็นทำนองบางครั้งก็พูดคล้าย ๆ คำผญา ไม่มีกลอนที่ถือว่าไพเราะเหมือนหมอลำหรือลำกลอน ลักษณะบังคับสัมผัสก็ไม่แน่นอน ผู้ลำหรือผู้แสดงและผู้ฟังไม่ได้ยึดถือเรื่องความไพเราะของกลอน แต่จะยึดเอาเนื้อหาของกลอนว่า พูดอย่างไร บางตอนเป็นกลอนกลุ่มคำ เล่นคำเช่นเดียวกับกลอนลำสินไซของท้าวปางคำ บางตอนจะสัมผัสบ้างเช่นเดียวกับลำพื้นลำหมู่ และบางตอนจะมีสัมผัสดีเหมือนกลอนของหมอลำกลอนทุกกลอนทุกประเภทจลำทำนองเดียวกันหมด
ประเภทกลอนลำ
๑. กลอนลำอันเชิญผีฟ้า เป็นกลอนที่ป่าวร้องอัญเชิญผีฟ้าครูอาจารย์ที่ล่วงลับไปที่เคยประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ในการรักษาคนป่วย ให้มาช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งการประกอบพิธีกรรมจะต้องอัญเชิญและทำพิธีครอบครูเสมอ จะทำให้การประกอบพิธีดำเนินการไปอย่างราบรื่น
๒.กลอนลำเสี่ยงหรือลำส่อง เป็นกลอนที่หมอลำผีฟ้าใช้ลำเสี่ยงทายหาสาเหตุของการเจ็บป่วย เรียกว่า ลำหาข้อหาปล้อง โดยมุ่งเน้นไปถึงสาเหตุของผู้ป่วยที่กระทำการละเมิดหรือสร้างความไม่พอใจต่อผี เช่น ละเมิดต่อผีบรรพบุรุษ ผีไร่ ผีนา ผีบ้าน ผีเรือน ผีตาแฮก เป็นต้น
๓.กลอนลำอ้อนวอน กลอนลำประเภทนี้ใช้ลำในขั้นตอนที่รู้สาเหตุของการเจ็บป่วยแล้วหมอลำผีฟ้าก็จะลำขอขมาลาโทษต่อผีที่คนป่วยได้ล่วงเกิน เป็นต้นว่าผีอาจจะแสดงอาการโกรธ ไม่พอใจออกมาและต้องการเอาชีวิตคนป่วยคนนี้ แล้วหมอลำผีฟ้าก็จะลำอ้อนวอนขอชีวิต
๔.กลอนลำอวยพร เป็นกลอนลำที่อวยพรให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคภัยที่เจ็บป่วย มีความสบายอกสบายใจ ซึ่งหมอลำผีฟ้าลำในเชิงจิตวิทยาอันจะทำให้คนไข้มีความรู้ อบอุ่นไม่ได้ถูกทอดทิ้ง แล้วมีความหวังในการมีชีวิตอยู่ต่อไป
๕.กลอนลำส่งเครื่อง คือการลำเพื่อส่งเครื่องใช้สิ่งของต่าง ๆ ตามที่ผีต้องการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอถ่ายชีวิตของผู้ป่วยที่ละเมิดต่อผีฟ้า จำเป็นจะต้องขอส่งเครื่องแลกเปลี่ยนกับชีวิต
๖.กลอนเชิญชวนลงเล่น เป็นกลอนลำชักชวนคนป่วยให้ร่วมฟ้อนรำสนุกสนานกับกลุ่มผีฟ้าที่มารักษา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนป่วยคลายความกังวล และความสิ้นหวังในชีวิต นอกจากนี้ยังทำให้คนป่วยได้ลุกเดินเป็นการออกกำลังกาย จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียสามารถกินข้าวปลาอาหารได้มากอันเป็นผลในเชิงจิตวิทยา
กลอนลำเป็นองค์ประกอบหนึ่ง การลำผีฟ้ายังประโยชน์ทางด้านเป็นสื่อภาษาติดต่อระหว่างมนุษย์กับผี เพื่อสร้างความเข้าใจ เป็นการยุติให้ผีมารังควานทำความเดือดร้อนต่อผู้ป่วยอีก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไพเราะสนุกสนานในทำนองกลอนลำ ทำให้ผู้ป่วยคลายกังวล ลืมทุกข์ โศกที่ตนเองได้รับ
การฟ้อนรำ
การฟ้อนรำเป็นพฤติกรรมการแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนุกสนานรื่นเริงในประเพณี หรือการละเล่นในท้องถิ่นนั้น ๆ การฟ้อนรำที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การฟ้อนรำประกอบพิธีกรรมเป็นการแสดงออกถึงการเซ่นสรวงบวงพลี เคารพนับถือต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้บันดาลให้สังคมเกิดความสงบสุขตามความปรารถนาของตนเอง
การฟ้อนรำในพิธีกรรมการลำผีฟ้า เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อศรัทธาต่อผีฟ้าที่ตนเองเคารพนับถือ เพื่อให้เกิดสันติสุขในหมู่ตน สะท้องให้เห็นถึงความศรัทธาเลื่อมใส ประกอบกับความสนุกสนานดังปรากฏในพิธีการรักษาคนป่วย และวิธีเลี้ยงข่วงผีฟ้า
ลักษณะท่าฟ้อนรำในการลำผีฟ้าไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ทั้งนี้เพราะการฟ้อนรำเกิดจากการเข้าเทียมของผีฟ้า ดังจะเห็นได้จากก่อนหมอลำผีฟ้าจะเข้าพิธีฟ้อนรำนั้นมีอาการสั่น ฟ้อนไปตามอำนาจของผีเท่านั้น นอกจากนี้การฟ้อนจะเป็นไปอย่างอิสระปราศจากกฎเกณฑ์บังคับ จากการศึกษาภาคสนามพบว่า เมื่อเริ่มแรกที่ผีเข้าประทับทรงมือทั้งสองข้างจะแกว่งไปข้างหน้าและข้างหลังพร้อมกัน แล้วขาทั้งสองก็จะทำเป็นจังหวะ หลังจากนั้นการฟ้อนก็เป็นไปตามจังหวะโดยส่วนใหญ่น้ำหนักจะตกอยู่เท้าด้านหน้า ส้นเท้าหลังยกขึ้น ส่วนปลายเท้าแตะที่พื้นเคลื่อนจังหวะ อย่างนี้เรื่อยไปแล้วก็ฟ้อนไปตามจังหวะ นางสวย นามจัตุรัส หัวหน้าหมอลำผีฟ้า กล่าวว่า “ท่าฟ้อนรำในพิธีการรำผีฟ้านั้นไม่ได้มีการฝึกหัดหรือร่ำเรียนแต่อย่างใด แต่เป็นการฟ้อนรำตามที่ผีฟ้าเข้าทรง” อย่างไรก็ตามการฟ้อนรำที่ท่วงท่าที่อ่อนช้อย สวยงาม มีจังหวะเนิบ ๆ ลีลาการยกแขนขึ้นลงสลับอย่างสวยงาม ถึงกับมีบทเปรียบเทียบถึงการฟ้อนว่า “ไกวแขนสีเหลืองหล่างคือซ้ายมายโฮง” และ การฟ้อนช้าจะเนิบนาบ บทที่ชักชวนคนป่าลงเล่น (ฟ้อน) จังหวะจะรวดเร็วและเร้าใจ ดังนั้นการฟ้อนรำในการลำผีฟ้า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พิธีกรรมการลำผีฟ้ามีความสนุกสนานและมีความขลังในตัวเอง
ทำนองลำ
ทำนองลำเป็นทำนองลำพื้นหรือลำหมู่ ซึ่งลำประกอบกับแคนลายใหญ่แบบโบราณ จังหวะในการลำจะไปตามเนื้อหาบางแห่งช้า บางแห่งไว บางจังหวะก็หยุดเป่าหมอลำพูด เมื่อฟังลำทำนองตังหวายแล้วเห็นว่าใกล้เคียงกันมาก คือลำกลอนสั้น ๆ แล้วให้คนเป่าต่อพร้อมกับฟ้อนและพูดหลาย ๆ คณะทำนองลำจะไม่คอยแตกต่างกันนัก

ลำดับขั้นตอนและวิธีการลำรักษา

ลำดับขั้นตอน และวิธีการรักษา
การลำส่อง หมายถึง การลำหาข้อผิดข้องหมองใจ ข้อผิดพลาดของผู้ป่วย หาสาเหตุของการป่วย คนไข้บางคนอาจมีการดูหมอหรือทางอีสานเรียกว่าดูมอก่อน เมื่อหมอมอ (หมอดู) ชี้ว่าเกิดจากผีควรเอาลำทรงมารักษา ญาติพี่น้องของผู้ป่วยก็จะไปติดต่อคณะหมอลำทรงมาทำการรักษา หมอลำทรงทุกคณะจะปฏิเสธไม่ได้ จะไกล้หรือไกลก็ต้องไป ค่ารักษานอกจากคายแล้วจะเรียกร้องไม่ได้ แต่ผู้ที่มาติดต่อก็ทราบโดยการสอบถามบริวารใกล้ชิดว่าควรจะตอบแทนเท่าไร หัวหน้าคณะรวมทั้งชาวคณะจะช่วยกันสอบถามประวัติคนไข้อย่างละเอียด เช่น อาการเป็นอย่างไร เคยรักษาด้วยวิธีใด จากที่ไหนบ้าง ผลเป็นอย่างไร ญาติพี่น้องเป็นอย่างไร มีการทะเลาะเบาะแว้งกันหรือไม่ การทำมาหากินมีความขัดแย้งกันอย่างไรบ้าง และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง เมื่อตกลงวันเวลากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางด้านเจ้าภาพก็เดินทางกลับมาจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องคายรักษาอาหารการกิน ฝ่ายคณะหัวหน้าก็จะทำพิธีบอกกล่าวครูบาแล้วเชิญไป ณ ที่จะทำการรักษา
เมื่อไปถึงบ้านผู้ป่วย ญาติพี่น้องจัดเตรียมคายรักษาไว้เรียบร้อยแล้ว หัวหน้าก็จะลำบูชาครูบาก่อนแล้วเชิญผีมาเทียม การลำส่องจะใช้เวลายาวนานมาก เนื่องจากหัวหน้าจะต้องลำถามผีไล่เรียงกันไป ผีไร่ ผีนา ผีป่า ผีภู ผีปู่ตา หรือผีหลักเมือง ถ้ายังไม่เจอก็จะถามไปเรื่อย ๆ เมื่อผู้ป่วยผิดผีตนใด ผู้เข้าทรงจะแสดงอาการ เช่น ตัวสั่นอย่างแรง แสดงอาการโกรธพูดจาด้วยเสียงอันน่ากลัว บริวารในคณะก็จะพูดขออ่อน ขอยอม ขอโทษ ต่าง ๆ นานา จะแก้ไขในสิ่งไม่ดี ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกันไปถึงญาติพี่น้อง ทุกคนก็จะเข้ามารับปากรับคำว่าจะทำตาม เพื่อผ่อนคลายไปในทางที่ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือ เครื่องบูชาผีตนนั้น หลังจากผีใจอ่อนยอมผ่อนปรนให้แล้วก็จะออกจากร่างทรงไป หัวหน้าจะผูกข้อผู้แขนผู้ป่วย แล้วแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวให้และนัดวันที่จะมาทำการรักษาต่อไป ในบางครั้งผู้ป่วยเพียงแต่ผิดที่บ๋า (บน) แล้วไม่ปง (ไม่แก้บน) หัวหน้าคณะก็จะบอกให้แก้บนซะก็จะเสร็จ ไม่ต้องมารักษา ยกเว้น ว่าแก้บนแล้วยังไม่หายดี
การเลี้ยงข่วง ก็คือการมาชุมนุมของบริวารผีทรงและผีฟ้า ทุกคนจะมีอุปกรณ์เครื่องบูชาคายรักษามาร่วมด้วย จากนั้นก็จะช่วยกันจัดทำเครื่องคายรักษา ทั้งข้าวปลาอาหารต่างหามาร่วมกันทำ ช่วยกันทำเป็นกิจกรรมที่ใหญ่พอสมควร หัวหน้าจะเชิญผีต่าง ๆ มาเทียมคือมาเข้าสิง เมื่อผีมาเข้าสิงแล้วทุกคนก็จะได้ร้องรำสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ เป็นการปล่อยอารมณ์ได้อย่างอิสระต่างพูดจาก
ทักทายกันหยอกเย้ากันในระหว่างผีกับผีอย่างไม่ถือชั้นวรรณะ ผีฟ้าจะเลี้ยงข่วงในช่วงเดือน ๓ ส่วนผีทรงหรือลำทรงจะเลี้ยงข่วงเดือน ๕ ปกติจะเป็นหลังสงกรานต์ นับว่าเป็นกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์กันดีมาก การเลี้ยงข่วงถือเป็นประเพณีถึงเวลาแล้วจะไปกันเอง โดยไม่ต้องบอกกล่าว หากมีความจำเป็นจริง ๆ ไปไม่ได้ก็ต้องฝากเครื่องคายไปร่วมด้วย

กระบวนการรักษาพยาบาลของลำส่อง (ลำผีฟ้า)

กระบวนการรักษาพยาบาลของหมอลำผีฟ้า
กระบวนการรักษาพยาบาลของหมอลำผีฟ้า สามารถแบ่งได้เป็น ๕ ขั้นตอน คือ
๑. ขั้นตอนการเตรียมการ
๑.๑ ครอบครัวผู้ป่วยมารับหมอไปที่บ้าน
๑.๒ ถามดูอาการผู้ป่วยและสภาพของครอบครัว
๑.๓ ให้กำลังใจผู้ป่วยและญาติ
๒. ขั้นตอนพิธีกรรมธรรมดา
๒.๑ เริ่มพิธีกรรมธรรมดา
๒.๒ ส่องดูสาเหตุของการเจ็บป่วยจากกาย
๒.๓ อ้อนวอนผีฟ้าให้ช่วย
๒.๔ เสร็จพิธีกรรม
๓. ขั้นตอนการรักษาพยาบาล
๓.๑ แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
๔. ขั้นตอนพิธีกรรมส่งเครื่องเก้า
๔.๑ เริ่มทำพิธีกรรมส่งเครื่องเก้า
๔.๒ ส่องดู
๔.๓ ขอให้ผู้ป่วยเป็นลูกศิษย์ผีฟ้า
๔.๔ เสร็จพิธีกรรมส่งเครื่องเก้า
๕. ขั้นตอนหลังเสร็จพิธีกรรม นำคายไปขึ้นฮ่าน ผู้ป่วยเป็นลูกศิษย์ของผีฟ้า

คำผญาทำนองลำส่อง

คำผญาทำนองลำส่อง
โดย ครูรัศมี ภักดีศิริวงษ์
มนต์เด้อ ข้อยได้มาถึงห้อง ภูมิปัญญาท้องถิ่น (๑)
ขอให้องค์ปิ่นไท้ ได้ให้และช่วยชู
และขออภัยแก่ข้า ผู้วาจาจ้วงจาบ (๒)
ผู้ละลาบละล้วง ผญาเจ้าคู่สู่คน
เจ้าหลาบหล่าย สายอำคาให้ฟังแน่ (๓)
มีบางคำที่ต้องแก้ กาพย์กลอนนั้นจังสิเดิน
กลอนที่ใช้ เจ็ดถึงสิบเอ็ดก็ตามแต่ (๔)
สัมผัสแน่บ่แน่ ตามโบราณแต่เค้า ตัวเจ้าให้คอยฟัง
จันทร์เพ็ญแจ้ง บ่ปานแสงตะวันฮุง (๕)
แสงกะบองหมื่นเล่ม บ่หงายแจ้งท่อเดือน
ดาวเทิงฟ้า ดวงเดียวบ่ห่อนฮุง (๖)
อาศัยแสงหน่วยนั้นอาศัยแสงหน่วยนี่ โฮมเข้าสว่างเอง
เกลือเค็มแล้ว กลายเป็นจางบ่ห่อนแม่น (๗)
ครั้นเป็นไม้แก่นหล่อน หลวมโพรกบ่ห่อนเป็น
ไผผู้เป็นขุนกล้า ครองเมืองจึงเฮืองฮุง (๘)
ไผเป็นขุนขี้ย่าน ครองบ้านบ่ฮุงเฮือง
ครั้นว่าบุญมีแล้ว เป็นขุนก็หากคล่อง (๙)
ครั้นว่าบุญบ่พร้อม แสนสิดิ้นก็ด่าวดาย
บุญมีแล้ว แนวดีก็ป้องใส่ (๑๐)
ครั้นว่าบุญบ่ให้ แนวขี้ฮ้ายก็แล่นโฮม
ครั้นได้เป็นนายแล้ว อย่าลืมคุณบ่าวไพร่ (๑๑)
ครั้นหากไพร่บ่พร้อม สีหน้าบ่ฮุงเฮือง
ครั้นได้ขึ้นเฮือแล้ว อย่าลืมแพป้องไม้ไผ่ (๑๒)
ได้เป็นใหญ่อย่าลืมข้า ผู้เคยได้ช่วยชู
เห็นว่าขวานสินไม้ ฟันเป็นอย่าว่าง่าย (๑๓)
ลางเทื่อเสียสี่เท้า ตีนห้านก็ป่วยการ
ครั้นได้เป็นนายนั่น ให้มีใจฮักไพร่ (๑๔)
คำเป็นจริงจังให้เว้า คำส้มนั้นอย่ามี

ครั้นสิคอยบุญมาค้ำ ครั้นบ่ทำก็บ่แม่น (๑๕)
คอยแต่บุญส่งให้ มันสิได้บ่อนได๋
ชื่อว่าคลองคูณค้ำ ไผทำสร้างประโยชน์ (๑๖)
ทั้งเฒ่าแก่และหนุ่มน้อย ไผทำได้ก็ฮุงเฮือง
ไผสิมาแปลงสร้าง ฮวงฮังให้หนูอยู่ (๑๗)
ครั้นปากบ่กัดตีนบ่ทื้น สังสิได้อยู่ฮู
เทียวทางบ่สุดเส้น อย่าถอยหลังเขาสิย่ำ (๑๘)
ไปตายดาบหน้าพุ้น เขาจึงย่องว่าหาญ
บ่มีแหปลาบ้อนตื้น บ่มีปืนนกจับต่ำ (๑๙)
บ่เกรงยำผู้อยู่ตุ้ม คนพาลหุ้มเข้าย่ำยี
เฮือคาแก้ง เกวียนเห็นให้ฟ่าวช่วย (๒๐)
บัดฮาเกวียนข้ามน้ำ เฮือสิได้ช่วยเกวียน
หลายคนเข้า หลายพายหากสิแล่น (๒๑)
ตกสีพายให้พรั่งพร้อม เฮือเจ้าแฮ่งแล่นดี
ครั้นได้กินปลาค้าว อย่าลืมคาวปลาค่อ (๒๒)
ได้เป็นหมอคล้องช้าง อย่าลืมหมอล่อต่อนกเขา
กินปลาแล้ว อย่าลืมปูปละปล่อย (๒๓)
บัดหาปลาบ่ได้ ยังสิได้ป่นปู
ครั้นสิกินให้พวมฮ้อน อย่าสู่วอนให้เย็นก่อน (๒๔)
ครั้นสิฟ้อนก็ให้ฟ้อน ยามเมานั้นจังดี
ของกินบ่กินนี่ มีแต่วันมันสิเน่า (๒๕)
ของเก่าบ่เล่าแจ้ง ก็ลืมได้เมื่อลุน
อย่าได้ไลลืมถิ่ม ผักสะเดาต้นเก่า (๒๖)
บัดฮากินลาบก้อย ยังสิโอ้อ่าวหา
อย่าได้เมามัวด้วย ความกินบ่ฮู้อิ่ม (๒๗)
ให้มีใจอ่อนน้อม ประสงค์ตั้งต่อทาน
มีปลาบ่มีหม้อ สิเอาหยังมาต้มอ่อม (๒๘)
หม้อนั้นช่างบ่ปั้น ห่อนสิได้อ่อมแก่ง
เห็นว่ามีขัวไม้ อย่าไลทางเส้นเก่า (๒๙)
บัดขัวหักขาดแล้ว ยังสิโอ้อ่าวหา

ถามเข็มแล้ว ถามไหมเบิ่งซะก่อน (๓๐)
ไหมบ่มาแหย่ก้น สนได้ก็บ่งาม
ครั้นว่ามีผืนผ้า บ่หาแพรมาพาดบ่า (๓๑)
เจ้าสินุ่งแต่ผ้า ไปได้จังได๋
ยามเมื่อมีเงินล้าน เต็มถงอย่าฟ่าวโอง (๓๒)
ลางเทื่อถงขาดก้น สิจนได้ดอกเมื่อลุน
ครั้นว่ามีเงินแล้ว บ่ย่านไผอย่าฟ่าวว่า (๓๓)
บัดฮาลิ้นคอบแข้ว น้ำตาเจ้าสิหย่าวไหล
ฝนตกยังฮู้เอื้อน นอนกลางคืนยังฮู้ตื่น (๓๔)
คนทุกข์ยังฮู้เตื้อง มีขึ้นว่าเมื่อลุน
เห็นว่าเป็นผักเบี้ย ริมทางอย่าฟ่าวย่ำ (๓๕)
บัดมันทอดยอดขาวบัดมันทาวยอดขึ้น สิแหงนหน้าหล่ำแยง
แมงวันเขียวตายย้อนขี้ คนผู้ดีตายย้อนโอง (๓๖)
คนหยิบโย่งตายย้อนคร้าน เบิ่งเพิ่นย่านแต่เก่าแฮง
แนวนามอ้อ ลมมาบ่ห่อนโค่น (๓๗)
เพราะว่าอ้อบ่ตั้ง ขันสู้ต่อลม
ไม้ใหญ่นี่ ลมตีก็หักครึ่ง (๓๘)
บ่คือเครือหญ้าปล้อง ลมต้องก็บ่เพ
ยูงยางไม้ ลำสูงแสนยิ่ง (๓๙)
ลมพัดต้อง ยังล้มล่าวลง
จวงจันทร์ไม้ แนวหอมหายาก (๔๐)
อันว่าเชื้อชาติไม้ หาได้ทุกยาม
คนเฮานี้ มีดีหลายท่า (๔๑)
อย่าติพุ้นติพี้ เวรสิจี้จองจำ
ติแตกควายบักเลฮ้าย ผักประตูบ่อัดฮี (๔๒)
ติแต่แมงหวี่ฮ้าย ตีนซิ่นบ่หล่ำเพียง
ติแต่แมงวันฮ้าย ตอมโตอยู่โผละโผละ (๔๓)
โตหากเหม็นอู้อู้ สิติได้ฮ่อมใด๋
ติแต่งัวควายหม่น เฮียวหนามฮั้วไฮ่ (๔๔)
มันหากเห็นบ่อนได้ จึงเที่ยวหม่นตั้งแต่หนาม

ติแต่เขาคนฮ้าย กายตนบ่เตื้องต่อ (๔๕)
ติแต่คออึ่งเผ้า คอเจ้าก็แฮ่งจน
อันชะตาคนนี้ มีมาหลายอย่าง (๔๖)
จังค่อยทำให้ได้ ดีถ้วนทุกอัน
ครั้นสิเป็นหมอหว่าน หมอยาหมอเป่า (๔๗)
ครั้นสิเฮียนบีบเส้น เอ็นนั้นซวงดี
หรือสิเฮียนคงค้อน คงหลาวหอกดาบ (๔๘)
เฮียนให้เถิงขนาดแท้ ดีถ้วนทุกอัน
หรือสิเฮียนหนังสือให้ เฮียนไปสุดขีด (๔๙)
ครั้นแม่นเฮียนแท้ได้ เป็นฮุ้สูคน
หรือสิเป็นหมอเต้น หมอดีหมอต่อย (๕๐)
ให้ได้เฮียนแท้แท้ มีคนจ้างสู่วัน
หรือสิเป็นหมอฮ้อง หมอลำหมอปี่ (๕๑)
เอาให้คนบ่อี้ ฟังแล้วอยู่เย็น
หรือสิเป็นหมอน้ำ ตึกปลาแหหว่าน (๕๒)
หาให้ได้เต็มข้อง ทุกวันนั้นจังดี
หรือสิเป็นหมอสร้าง นาสวนฮั้วไฮ่ (๕๓)
เก็บเอาเงินท่าไว้ ซื้อเกวียนห่างทุกขน
หรือสิเป็นหมอไม้ หมอมอหมอส่ง (๕๔)
ให้มันฮู้ฮอดหม่อง ผีนั้นอยู่ได๋
ครั้นเป็นหมอถืกต้อง เงินทองก็ไหลหลั่ง (๕๕)
ครั้งว่าเงินมีแล้ว เอาแก้วก็ง่ายดาย
ครั้งบ่มีเงินนี้ พอปานกับคนโง่ (๕๖)
ทางแขนขาก็เมื่อยล้า ใจนั้นก็หง่อมเหงา
เกิดเป็นคนให้เฮียนฮู้ เฮ็ดซู่ลู่เขาบ่ย่ำ (๕๗)
เฮ็ดซำงำเขาบ่ย่าน ไปเที่ยวบ้านให้เบิ่งทาง
แมนสิมีความฮู้ เต็มพุงกะตามซาง (๕๘)
โตสอนโตบ่ได้ ไผสิย่องว่าดี
ครั้นเจ้าทอผืนผ้า ให้ถามครูผู้ฉลาด (๕๙)
เพิ่นนั้นเป็นผู้แต้ม แปลงให้ก็จังงาม

อย่างได้ลืมคุณแก้ว มุ่งคุณของเก่า (๖๐)
ควรสิเอาห้อยคล้อง คอไว้จังดี
เห็นว่ามีสุขแล้ว บ่เหลียวแลพวกเพื่อน (๖๑)
ครั้นหาสุขบ่เรื่อย สิเหลียวหน้าเบิ่งไผ
ข้อยนี้แนวเสียมเหี้ยน ประสงค์หาแต่ดินแก่น (๖๒)
เสียมก็เสียมบ้องตื้น ประสงค์ฝื้นตั้งแต่โพน
มองเห็นศาลากว้าง น่าสำบายจึงมาแว (๖๓)
หวังแต่หม่องกว้างกว้าง สิเอากล้วยมาตื่มสวน
ชาติที่แนวนามเชื้อ หอยนาหน้าต่ำ (๖๔)
บ่ห่อนหงายหน้าเว้า หอยกว้างบ่วงชะเล
ชาติที่แนวนามช้าง ตัวสูงเชื้อใหญ่ (๖๕)
มาคว้าเทียมไก่เตี้ย ประสงค์เอิ้นว่าเพีย
ใจบ่ใสต่อแก้ว แยงเงาก็บ่ส่อง (๖๖)
ใจบ่ใสต่อฆ้อง ตีได้ก้บ่ดัง
ครั้นว่าใจประสงค์แล้ว เมืองแกวก็ดั้นฮอด (๖๗)
แสนสิจอดอยู่ฟ้า ตะเกินขึ้นก่ายเอา
ครั้นเจ้าซื้อช้างเฒ่า ขายงาได้กินค่า (๖๘)
ครั้นเจ้าซื้อช้างน้อย หายจ้อยจ่อมทุน
สิให้ไลลืมเจ้า บ่มีวันสิลืมง่าย (๖๙)
ดินบ่หงายฟ้าบ่ปี้น หินอยู่น้ำบ่ฟูขึ้นกะบ่ไล
เจ้าเอาหินแห่คั้นส้ม เอาลมมาเฮ็ดตองห่อ (๗๐)
เอาแดดเฮ็ดตอกกิ้ว มันสิหมั่นบ่อนใด๋
อย่าตั๋วให้กินน้ำ เหมิดเฮือเกลือเหมิดหมื่น (๗๑)
กินหมากนาวเหมิดต้น คำส้มก็บ่มี
ครั้นข้อยถามหานาเจ้า เป็นหยังจังบอกท่ง (๗๒)
ถามหาโป่งเป็นหยังบอก วังหว้าน้ำอ่างหิน
แม่นเจ้าเหลียวเห็นแฆ่ ในหนองหรือว่าบ่ (๗๓)
หรือว่าเห็นแต่แฆ่ ทางแย้ก็บ่เห็น
เจ้าผู้จูมจอมเหน้า หนามสิซอนซ้อนอยู่ (๗๕)
บัดว่าห่าบ่พ้อ ยังสิได้ใส่นา

ให้เจ้าอดส่าห์เลี้ยง กินขิงแทนต่างข่า (๗๖)
อดส่าห์นอนสาดเหี้ยน พอพ่อสาดหวาย
ให้เจ้าอดส่าห์เลี้ยง กินลิงแทนกระต่าย (๗๗)
อดส่าห์เว้าผู้ฮ้าย พอพ่อเพิ่นผู้ดี
ให้เจ้าอดส่าห์เลี้ยง กินปลาไหลแทนเอียน (๗๘)
ให้เจ้าเมี้ยนตอนซิ้นไว้ แทนเนื้อเมื่อหิว
ให้เจ้าอดส่าห์เยื้อน นอนเฮือนฟากไม้ไผ่ (๗๙)
หากบุญใหญ่มีมากล้น สินอนแป้นแผ่นพรม
ทางหลวงมีหลายเส้น ตามใจสิเลือกไต่ (๘๐)
ฮกเลี้ยวแปนเลือกได้ ใจเจ้าให้ว่าเอา
บ่อยากเสวนาด้วย แสนสิออยก็ว่าด่า (๘๑)
แม่นสิหวานจ้อยจ้อย พอปานป้อยและห่ากิน
อันว่าคนเฮานี่ ยามบ่ดีบีมีซ่อย (๘๒)
เป็นหลวงเพิ่นก็ป้อย เป็นน้อยเพิ่นก็ชัง
เจ้าหลาบหล่าย สายอำคาให้ฟังแน่ (๘๓)
เจ้าอย่าพัวผู้นั้นเจ้าอย่าพันผู้นี้ ตูข่อยให้คึดหวง
เป็นหญิงนี้ ธรรมเนียมดั่งนกเจ่า (๘๔)
ยามเมื่อบินแอ่นผ่าย ขาวแจ้งจังเห็น
เป็นหญิงนี้ ธรรมเนียมให้มันคล่อง (๘๕)
ตีนผมให้หล่ำเกลี้ยง ตีนซิ่นให้หล่ำเพียง
อย่าได้ปละสวนอ้ม หนีไปชมปลาเจ่า (๘๖)
อย่าได้ปละเล้าข้าว หนีไปซ่นป่ากลอย
อย่าได้เห็นของฮ้าย เป็นดีมีค่า (๘๗)
อย่าได้เห็นด่านด้าว ดงกว้างว่าแปน
แนวเสือเฒ่า จำศีลอย่าเพิ่งเชื่อ (๘๘)
ลางเทื่อเห็นหมู่เนื้อ ศีลสิม้างแตกกระเด็น
คาดสิได้ ไหลมาอ่องล่อง (๘๙)
คาดบ่ได้ ไหลน้ำล่องหนี
นกบ่ยินดีด้วย รุกโขบ่มีฮ่ม (๙๐)
สระบ่มีดอกไม้ คณาเนื้อบ่สงวน

ชาติที่สวยหอมนี้ มีศีลเป็นที่เพิ่ง (๙๑)
ความชั่วให้หลีกเว้น เวรนั้นให้หลีกไกล
รูปบ่สวยประสงค์สร้าง ศีลธรรมให้ตรงแน่ว (๙๒)
ให้เปรียบปานหน่วยแก้ว ราคาค้ำหมื่นแสน
ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนดีพอลี้อยู่ (๙๓)
ทุกข์บ่มีข้าวใส่ท้อง นอนลี้อยู่บ่เป็น
สิบปีล้ำซาวปีล้ำ บ่เห็นกวางมายามมั่ง (๙๔)
บัดห่าข้าวขึ้นเล้า เห็นหน้าเจ้าเทื่อเดียว
อันว่าไทยไกลนี้ เจิงเลิงน้ำแจวข่า (๙๕)
บ่ท่อใสจิ่งหริ่ง ไทยใกล้น้ำแจวขิง
อันว่าผัวเมียฮ้าย ยามเดียวเป็นเพิ่น (๙๖)
อันว่าพี่น้องฮ้าย ขี้ได้ก็บ่เหม็น
อันว่าพี่น้องนี้ ให้เอาใจฮักห่อ (๙๗)
อย่าได้ก่อเหตุฮ้าย ตีฆ่าด่ากัน
นาดีถามหาข้าว ลูกเต้าดีหาพ่อแม่ (๙๘)
เฒ่าแก่หาผู้เลี้ยง อย่าอยากได้ตั้งแต่ลูก
อันว่าการยกย่อง นินทาประจำโลก (๙๙)
ไผสิหนีหลีกลี้ ไปได้บ่ห่อนมี
อย่าได้กดเขาย่อง ยอโตโก้กว่าเพิ่น (๑๐๐)
อย่าได้หวีดหวีดเว้า ประสงค์ขึ้นข่มเขา
ไผสิเหลียวเห็นข้อ ใจคอนกถีดถี่ (๑๐๑)
ทางปากฮ้องพืดพืด ใจเลี้ยวใส่ปู
ให้เจ้าเอาเชิงไว้ คือเชิงผ้าเก่า (๑๐๒)
ยามเมื่อคิดฮุ่งฮู้ ยังสิได้ต่อกลาง
ให้เฮ็ดตนยาวไว้ คือเสาโทรเลข (๑๐๓)
บัดฮาเกิดเหตุฮ้อน ยังสิได้ส่งสาร
ชาติที่กลางคืนให้ ไปมาดีมีคู่ (๑๐๔)
เดือดดำไฟบ่ได้ อย่าสู่ได้เที่ยวทาง
อย่าได้พากันหล่ม หลงทางไปแนวอื่น (๑๐๕)
จงตื่นเบิกบานไว้ ใจตั้งต่อศีล
ความตายนี้ แขวนคอทุกบาทย่าง (๑๐๖)
ไผก็แขวนอ้อนต้อน เสมอด้ามดั่งเดียว
ให้เจ้าทำหน้าที่ เป็นดีกว่าทุกอย่าง (๑๐๗)
บุญที่ได้ปลูกสร้าง เจริญแท้แน่นอน



***************************

การสืบทอดและการเรียนรู้

การสืบทอดและการเรียนรู้
หมอลำผีฟ้าต้องมีครูอาจารย์ทุกคน ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอลำผีฟ้ามาหลายปีแล้วก่อนที่จะเสียชีวิตหรือก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น จะคัดเลือกลูกศิษย์ให้ขึ้นมาทำหน้าที่แทน โดยการยกฮ่านให้ และเมื่อผู้ใดมีฮ่านของตนเองก็ถือว่าผู้นั้นเป็นหมอลำผีฟ้าต่อไป
ในการสืบทอดการเป็นหมอลำผีฟ้านั้นพบว่า หมอลำผีฟ้าผู้หนึ่งสามารถสืบทอดการเป็นหมอลำผีฟ้าให้กับผู้อื่นได้ไม่จำกัด แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีผู้มารับการสืบทอดประมาณ ๒-๓ คน โดยวิธีเลือกลูกศิษย์ผู้มี่มีความใกล้ชิดตนเอง หรือเลือกจากการ “ส่องดู” อันหมายถึง ผู้ที่ผีฟ้ามีความต้องการจะให้ผู้นั้นเป็นหมอลำผีฟ้า หลังจากนั้นก็จัดทำพิธียกฮ่านให้ โดยครูบาอาจารย์และหมอที่ได้รับฮ่าน จะมาช่วยกันทำพิธียกฮ่านให้กับหมอคนใหม่ โดยครูอาจารย์จะอันเชิญ “พ่อแม่” ในที่นี้หมายถึง ผีฟ้ามาอยู่ฮ่านใหม่ ฮ่านจึงถือว่าเป็นตัวแทนของผีฟ้าหรือเป็นที่สถิตด้วยการร้องรำ และการฟ้อน วิธีการเรียนรู้วิชาของหมอลำผีฟ้าทุกคนบอกไว้ว่า “ไม่มีตำราที่เรียนเป็นตัวหนังสือจากอาจารย์ กระบวนการเรียนเป็นเพียงการสังเกตของผู้ที่เป็นลูกศิษย์เท่านั้นที่สังเกตดูพฤติกรรมของผู้เป็นอาจารย์และนำมาปฏิบัติตาม” แม้แต่เรื่องการลำและการฟ้อนทั้งผู้ที่เป็นหมอและลูกศิษย์บอกว่า “ทางเทิงจะมาเข้าสิงแล้วคนที่ไม่เคยลำเคยฟ้อนมาก่อนก็ลำเป็นฟ้อนเป็น” แต่ผู้ที่เป็นหมอต่างกันกับลูกศิษย์อยู่ที่ว่าสามารถเข้าทรงหรือหยุดเข้าทรงได้ตามความต้องการของตน ส่วนลูกศิษย์จะเข้าทรงได้ก็ต่อเมื่อมีหมอเป็นผู้ทำพิธีกรรม ถ้าไม่มีหมอไม่สามารถเข้าทรงได้ และการฟ้อนของลูกศิษย์ในพิธีกรรมก็ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ต้องมีคำสั่งของหมอ “หยุดเข้า” จึงจะหยุดฟ้อนได้ การควบคุมการเข้าทรงได้ของหมอจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างจากผู้อื่น และความสามารถนี้ต่างก็บอกว่าจะเกิดขึ้นเองเมื่อผู้เป็นหมอได้รับฮ่านแล้วเท่านั้น
สรุปแล้ว การสืบทอดความรู้ด้านพิธีกรรมและการปฏิบัติตนในการทำหน้าที่หมอลำผีฟ้าไม่ได้เป็นไปอย่างมีระบบ ผู้ติดตามหรือลูกศิษย์ต้องเรียนรู้เอง โดยการสังเกตพฤติกรรมของครูอาจารย์ หมอลำผีฟ้าเกิดจากวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่กำหนดบทบาทให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย และการลำหรือฟ้อนก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา ผู้ที่อยู่ภาคอีสานส่วนใหญ่มักมีโอกาสที่จะได้พบเห็นเคยได้ยินได้ฟังมา ส่วนวิธีการเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในพิธีกรรมหรือแม้กระทั่งลักษณะของตัวพิธีกรรมเองก็ใกล้เคียงกับพิธีกรรมอื่น ๆ ที่ปฏิบัติกันอยู่ในท้องถิ่นอีสาน เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีเลี้ยงผีตาแฮก เป็นต้น ดังนั้น การเรียนรู้พิธีกรรมเหล่านี้จึงไม่ต้องอาศัยตำราแต่อย่างใด เพียงอาศัยการสังเกตจดจำแล้วนำมาปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

คุณค่าหรือประโยชน์ที่ได้รับจากภูมิปัญญา

คุณค่าหรือประโยชน์ที่ได้รับจากภูมิปัญญา
ลำผีฟ้า-สามารถช่วยบำบัดอาการทางจิตให้หายได้
ลำผีฟ้า เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชุมชนทางอีสาน เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ยาวนาน เพื่อใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บทางจิตบางชนิด เป็นความเชื่อของชุมชนกลุ่มหนึ่ง ที่เชื่อว่าจะสามารถช่วยให้ โรคทุเลาเบาบางลงไปจึงถึงหายได้
ชาวชนบทในอดีตที่ยังไม่มีการแพทย์ที่พัฒนาแบบยุคปัจจุบัน เวลาเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาก็จะไปหาหมอกลางบ้าน ให้ช่วยดูแลรักษาให้ พร้อม ๆ กันอาจจะหาทางออกด้วยวิธีการต่าง ๆ มาเสริมขึ้น เป็นการช่วยทางด้านจิตใจ เพื่อให้มีกำลังใจและสบายใจขึ้น เพราะเชื่อว่าการป่วยทางกายและจิตนั้นมีอยู่ร่วมกันเสมอ
ทางออกให้จิตใจสบายขึ้น ยังมีให้เห็นอยู่หลายรูปแบบมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การปล่อยนกปล่อยปลา การย้ายศาลพระภูมิ การตักบาตรทำบุญ บายศรีสู่ขวัญ การดูหมอ การทำสมาธิ-โยคะ ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยเสริมให้จิตใจมีพลัง มีความหวังว่าโรคจะหายและให้ร่างกายมีสุขภาพดีทั้งสิ้น
ลำผีฟ้า ก็เป็นวิธีการอันหนึ่ง โดยพิธีกรจะร่ายรำและร้องเพลงพร้อมแคนอันไพเราะ สะกดจิตให้กับคนป่วยฟัง ซึ่งเชื่อว่าที่เจ็บป่วยอยู่นั้น เพราะมีภูตผีปีศาจสิงอยู่ในร่างกาย พิธีกรก่อนจะเริ่มรำก็ต้องเข้าทรงให้เจ้าพ่อเจ้าแม่มาอยู่ในร่างตัวเองเสียก่อน แล้วเจ้าพ่อเจ้าแม่จะพูดกับผีในภาษาเดียวกันที่รู้เรื่องให้ออกมาจากร่างกายคนไข้ โรคร้ายก็จะออกตามมา แล้วอาการก็จะทุเลาลง หรือหายเป็นปกติดี
อาการของโรคเป็นอย่างไร คนไข้เหล่านี้จะมีอาการวิตกกังวล หงุดหงิด ปากขม กินอะไรไม่ค่อยได้ เหม่อซึม จิตเลื่อนลอย ปวดเมื่อยตามตัว หลง ๆ ลืม ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ร้อนตามตัว วูบวาบ เหงื่อออก นอนไม่หลับ หลับก็ฝันร้ายสะดุ้งตื่นบ่อย รู้สึกไม่สบายใจตลอดมา ฯลฯ ไปหาหมอที่โรงพยาบาลมาหลายครั้งแล้วก็ไม่หาย แต่รำผีฟ้าช่วยได้ ถือเป็นภูมิปัญญาไทยชนิดหนึ่งในการช่วยบำบัดทุกข์ของคนในอดีตกาล
ลำผีฟ้าเป็นพิธีกรรมเวทมนต์คาถาชนิดหนึ่งที่นิยมทางอีสาน โดยคนกลุ่มหนึ่งในอดีตกาลนำมาใช้บำบัดรักษาผู้ที่มีอาการทางจิต ซึ่งเชื่อกันว่าโรคทางกายกับจิตนั้นมีอยู่ร่วมกันเสมอ เป็นภูมิปัญญาไทยที่ได้อนุรักษ์กันมา ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม อาจเห็นด้วยหรือคัดค้าน แต่คนกลุ่มหนึ่งก็ยัง
มีความเชื่อและต้องการอยู่