วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551

การลำส่อง (ลำผีฟ้า) รักษาโรค

การลำส่อง หมายถึง การลำหาข้อผิดข้องหมองใจ ข้อผิดพลาดของผู้ป่วย หาสาเหตุของการป่วย คนไข้บางคนอาจมีการดูหมอหรือทางอิสานเรียกว่าดูมอก่อน เมื่อหมอมอ (หมอดู) ชี้ว่าเกิดจากผี ควรเอาลำทรงมารักษา ญาติพี่น้องของผู้ป่วยก็จะไปติดต่อคณะหมอลำทรงมาทำการรักษา หมอลำทรงทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้จะใกล้หรือไกลก็ต้องไป ค่ารักษานอกจากคายแล้วจะเรียกร้องไม่ได้ แต่ผู้ที่มาติดต่อก็ทราบโดยการสอบถามบริวารใกล้ชิดว่าควรจะตอบแทนเท่าไหร่ หัวหน้าคณะรวมทั้งชาวคณะจะช่วยกันสอบถามประวัติคนไข้อย่างละเอียด เช่น อาการเป็นอย่างไร เคยรักษาด้วยวิธีใด จากที่ไหนบ้าง ผลเป็นอย่างไร ญาติพี่น้องเป็นอย่างไร การทำมาหากินมีความขัดแย้งกันอย่างไรบ้าง และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง เมื่อตกลงวันเวลากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางด้านเจ้าภาพก็เดินทางกลับมาจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องคายรักษาอาหารการกิน ฝ่ายคณะหัวหน้าก็จะทำพิธีบอกกล่าวครูบาแล้วเชิญไป ณ ที่จะทำการรักษา เมื่อไปถึงบ้านผู้ป่วย ญาติพี่น้องจัดเตรียมคายรักษาไว้เรียบร้อยแล้ว หัวหน้าก็จะลำบูชาครูบาก่อนแล้วเชิญผีมาเทียม การลำส่องจะใช้เวลายาวนานมาก เนื่องจากหัวหน้าจะต้องลำถามผีไล่เรียงกันไป ผีไร่ ผีนา ผีป่า ผีภู ผีปู่ตา หรือผีหลักเมือง ถ้ายังไม่เจอก็จะถามไปเรื่อย ๆ เมื่อผู้ป่วยผิดผีตนใด ผู้เข้าทรงจะแสดงอาการ เช่น ตัวสั่นอย่างแรง แสดงอาการโกรธพูดจาด้วยเสียงอันน่ากลัว บริวารในคณะก็จะพูดขออ่อน ขอยอม ขอโทษ ต่าง ๆ นานา จะแก้ไขในสิ่งไม่ดี ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกันไปถึงญาติพี่น้อง ทุกคนก็จะเข้ามารับปากรับคำว่าจะทำตาม เพื่อผ่อนคลายไปในทางที่ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือ เครื่องบูชาผีตนนั้น หลังจากผีใจอ่อนยอมผ่อนปรนให้แล้วก็จะออกจากร่างทรงไป หัวหน้าจะผูกข้อผู้แขนผู้ป่วย แล้วแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวให้และนัดวันที่จะมาทำการรักษาต่อไป ในบางครั้งผู้ป่วยเพียงแต่ผิดที่บ๋า (บน) แล้วไม่ปง (ไม่แก้บน) หัวหน้าคณะก็จะบอกให้แก้บนซะก็จะเสร็จ ไม่ต้องมารักษา ยกเว้น ว่าแก้บนแล้วยังไม่หายดี

ความเป็นมาและความสำคัญของการลำส่อง (ลำผีฟ้า)

ความเป็นมาและความสำคัญของการลำส่ง (ลำผีฟ้า)
หมอลำส่องหรือลำผีฟ้า เป็นหมอไสยศาสตร์หรือหมอผีประเภทหนึ่งที่รักษาด้วยความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา หมอลำผีฟ้ารักษาผู้ป่วยโดยใช้อำนาจเหนือธรรมชาติของผีฟ้า เพื่อที่จะให้ผีออกจากร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาด้วยความเชื่อเรื่องผีมักจะถูกมองว่าไร้เหตุผล โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์มักจะมีทัศนว่า “ผี” หรืออำนาจเหนือธรรมชาติเป็นความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล หมอพื้นบ้านไม่มียาสมุนไพรและตำราโหราศาสตร์จะรักษาพยาบาลด้วยความเชื่อและพิธีกรรมได้อย่างไร จากสภาพความเชื่อและสภาพการณ์การเข้ารับการรักษาพยาบาลของชาวชนบทดังกล่าว ทำให้ตั้งประเด็นที่สำคัญในการสืบค้นและเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้ คือ ทำไมยังมีผู้นิยมไปรักษาโรคภัยไข้เจ็บกับหมอลำผีฟ้า และการลำผีฟ้าจะทำให้ผู้ป่วยหายจริงหรือไม่และการรักษาด้วยพิธีกรรมความเชื่อนี้ยังปรากฏให้เห็นอยู่ที่ใดบ้างในจังหวัดชัยภูมิ เท่าที่สืบค้นจะเห็นและพบว่ามีมากที่หมู่บ้านหนองบัวบาน ตำบลหนองบัวบาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ
ความหมาย
การเล่านิทาน โดยใส่ทำนองเข้าไปด้วย เรียกว่า “ลำ” เคยมีนักวิชาการหลายท่านให้ข้อสันนิษฐานว่า “ลำ” น่าจะมาจากคำว่า ลำนำ “ลำ” คือการนำกลอนมาร้องเป็นทำนอง ซึ่งจะมีหลายรูปแบบหลายสำเนียง

การเกิดลำทรงลำส่อง (ลำผีฟ้า)

การเกิดลำทรงลำส่อง (ลำผีฟ้า)
วิถีชีวิตหรือที่เรียกว่าวัฒนธรรมของชาวอีสานนั้น เป็นไปตามคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาเชื่อว่ามีผี มีเทพ มีเทวดา มีพระอินทร์ พระพรหม ชาวอีสานเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีผีเฝ้าที่ ผีเป็นผู้ดูแลต้องมีการทำพิธีขอขมาโทษแล้วผีจะยกโทษให้แล้วอาการเจ็บป่วยก็จะหายการเจ็บป่วย ในสมัยอดีตจะมีการรักษากันด้วยแพทย์แผนโบราณ คือ ยาพื้นบ้าน ชาวอีสานเชื่อว่ายาพื้นบ้าน สามารถรักษาโรคได้ทางกายทุกอย่าง ถ้ารักษาด้วยยาพื้นบ้านไม่หาย หรือบางท้องถิ่นไปรักษาแผนปัจจุบันแล้วไม่หาย ชาวบ้านว่าต้องมี ผีมาต้อง จะต้องรักษาด้วยวิธีการพูดจากับผี การรักษาอาการที่เกิดจาก ผีต้อง มี ๒ ทางคือ
๑. การอยู่กับธรรม เป็นการอาศัยธรรมเข้ามาขับไล่ผีทุกอย่างทุกชนิด คือ การปฏิบัติธรรมถือศีล มีหมอธรรมเป็นผู้ดูแลรักษา หมอธรรมจะใช้ฝ้ายผูกแขนแล้วสวดมนต์เสกเป่าน้ำให้ดื่มพร้อมทั้งพูดจาอบรมสั่งสอนต่าง ๆ นานา หมอธรรมที่มีอาคมแก่กล้า มีคนยกย่องเชื่อถือมาก ๆ ก็รักษาได้ไม่ยาก เพียงแต่ว่าการอยู่กับธรรมค่อนข้างจะลำบากเรื่องข้อห้ามหรือที่ชาวอีสานเรียกว่า คะลำ รวมทั้งการประพฤติธรรมด้วย
๒. การอยู่กับผีโดยการลำรักษา การอยู่กับผีเป็นวิธีการที่ชาวบ้านชอบมาก นอกจากจะได้มีการรวบญาติแล้ว ยังมีการร้องรำทำเพลงกันสนุกสนานไปด้วย การลำรักษาแบ่งชั้นกันไว้ ๒ ระดับ
๒.๑ ลำทรง การรักษาด้วยลำทรงเป็นวิธีการแรกที่ชาวบ้านเลือก ผีที่มีมาทำให้เจ็บป่วยนั้น ชาวบ้านถือว่าเป็นผีที่อยู่ในโลกมนุษย์ เช่น ผีเมือง ผีภู ผีป่า ผีตาแฮก ผีเซื่อ ผีบ้าน ผีปู่ตา ผีน้ำ เป็นต้น หัวหน้าคณะลำทรงจะเป็นผู้เข้าทรง โดยอันเชิญผีทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของคนไข้มาเข้าทรง จากนั้น จะให้ลูกน้องผู้เป็นบริวารเป็นผู้ถาม เช่นถามว่าเจ้าเป็นผีอะไร มาจากไหน มาทำให้คนเจ็บป่วยด้วยอันใด หรือญาติพี่น้องไปทำผิดอันใด ปกติแล้วจะมีการลำส่องก่อนว่าผีตนใดทำให้เจ็บป่วย ถ้าส่องแล้วเป็นผีที่อยู่ในโลกมนุษย์จึงจะลำทรงรักษา ผีที่เข้ามาทรงจะบอกหมดว่าทำผิดอันใด และวิธีแก้ไขต้องทำการขอขมาอย่างไร เครื่องเซ่นไหว้มีอะไรบ้าง
๒.๒ ลำผีฟ้า การรักษาด้วยผีฟ้ามีอยู่ ๒ สาเหตุ คือ รักษาด้วยลำทรงแล้วไม่หาย ผีต่าง ๆ ไม่ยอมยกโทษให้ หรือผีมีความแก่กล้าเกินไปไม่ยอมรับการขอขมา จำเป็นต้องเชิญผีฟ้าลงมาช่วยรักษาเยียวยา เพราะผีฟ้ามีอิทธิฤทธิ์มากกว่า เป็นผีที่กำหนดชะตาชีวิตมนุษย์และอยู่เหนือกว่าผีทั้งปวงนี้ อีกอย่างหนึ่งเมื่อลำส่องดูแล้วปรากฏว่าอาการเจ็บป่วยนั้นเป็นการผิดต่อผีฟ้า ไม่ใช่ผีในโลกมนุษย์ ก็จะเข้าทรงอันเชิญผีฟ้าลงมารักษา การรักษาด้วยลำผีฟ้าจึงแก่กล้ากว่าลำทรง นอกจากนี้การลำผีฟ้ารักษายังต้องข้อห้าม (คะลำ) มากมาย เช่น ห้ามใครยืมของในบ้าน ห้ามใครมาขอสิ่งของ ห้ามผู้ชายมาข้องแวะแตะต้องคนไข้ และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ลำส่องเป็นการดูมอ (ดูหมอ) เพื่อเป็นการวินิจฉัยปัญหาของชาวอีสาน

ขนบประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับลำส่อง (ลำผีฟ้า)

ขนบประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับลำส่อง (ลำผีฟ้า)
ความเชื่อที่เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บนั้น เกี่ยวข้องกับสาเหตุ ๒ ประการ คือ สาเหตุที่เกิดตามธรรมชาติ เช่น ภูมิอากาศทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนสาเหตุที่เกิดจากอำนาจเหนือธรรมชาตินั้น มีหลายประเภท เช่น การถูกผีทำ การถูกคนทำด้วยวิธีทางคาถาอาคม ชะตา กฎแห่งกรรม และการผิดขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ ซึ่งต่างก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ตามความคิดความเชื่อของชาวบ้าน เมื่อมีเหตุเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องหาวิธีการรักษาพยาบาลตามสาเหตุของโรคนั้น ชาวอีสานจะเชื่อถือศรัทธา “ผีฟ้า” ว่าสามารถที่จะบันดาลทุกสิ่งได้ แม้แต่การเกิดการตายของมนุษย์ ตลอดจนเป็นผู้กำหนดโชคชะตากรรมของมนุษย์ขณะที่มีชีวิตอยู่บนโลก และเชื่อว่าผีบรรพชนกับผีฟ้านั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เชื่อว่ามนุษย์มีขวัญประจำตัวอยู่ทุกคน เมื่อตายลงขวัญจะออกจากร่างไปพบบรรพชนและจะเดินทางไปยังเมืองฟ้าเพื่อไหว้ผีฟ้า

ลักษณะและวัฒนธรรมของชาวบ้านหนองบัวบาน

ลักษณะและวัฒนธรรมของชาวบ้านหนองบัวบาน
บ้านหนองบัวบานก็คือชนบทอีสานทั่วไป ที่คนหนุ่มสาว และคนที่มีการศึกษาทิ้งถิ่นฐานไปทำงานในเมือง ปล่อยให้คนแก่เลี้ยงเด็กอยู่บ้าน ส่วนคนหนุ่มสาวที่เหลือคือคนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คนเหล่านี้มีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษา ความรู้ที่จะรักษาตัวเองให้ถูกสุขลักษณะจึงมีน้อย อาชีพเกษตรกรฝากชีวิตไว้กับธรรมชาติ เกษตรกรจึงเคารพธรรมชาติว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เกษตรกรแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณด้วยการเลี้ยงผีไร่ ผีนา เชื่อว่าผีไร่ ผีนานี่เองเป็น
ที่มาทำให้เกษตรกรเจ็บป่วย
ศาสนาความเชื่อ ประเพณีของหมู่บ้านหนองบัวบาน
สังคมเกษตรกรรมถิ่นนี้มีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิดนี้เป็นการกระทำของวิญญาณหรือผี ต้องรักษาด้วยการลำส่อง แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย ลำผีฟ้าเป็นการเซ่นสรวงต่อผีฟ้าหรือเทวดา ที่สถิตอยู่บนท้องฟ้า เพื่อขอความเป็นลัทธิร่างทรงให้ลงมาช่วยปัดเป่าทุกข์โศก โรคภัยแก่ชาวบ้านที่มาชุมนุมในพิธี
เมื่อสมัยที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังไปไม่ถึงถิ่นทุรกันดาร นอกจากการรักษาแบบพื้นบ้าน เช่น การใช้สมุนไพรที่ได้ทั้งจากพืชและสัตว์แล้ว ยังมีการรักษาเชิงจิตวิทยาอีกประเภทหนี่ง เป็นต้นว่าการไล่ผี การบนบานศาลกล่าว และ การลำผีฟ้า
จะด้วยเพราะการเซ่นไหว้หรือการรำผีฟ้าหรือไม่ ไม่มีใครทราบแน่ ต่างคนต่างคิดและเชื่อไปต่าง ๆ นานา แต่ข้อสังเกตก็คือ ตอนทำพิธีนั้นมีการรำและเล่นดนตรี หากจะลากเข้าความเรื่องดนตรีบำบัดก็คงจะได้ และการมาชุมนุมของลูกหลานและเพื่อนบ้าน มีนัยแอบแผงที่นอกจากจะมาเพราะอยากรู้อยากเห็น ยังมาด้วยความปรารถนาอยากจะให้คนเจ็บได้หายจากความทรมานและ “ลุ้น” ว่าผีฟ้านั้นจะติดต่อกับวิญญาณได้ผลอย่างไร ก็น่าจะส่งผลให้เกิดกำลังใจให้กับคนเจ็บบ้างอย่างแน่นอน ภาพที่เพื่อนบ้านเข้ามาพูดคุยปลอบโยนน่าจะมีผลให้แรงใจกับคนไข้ได้ตามสมควรที่เดียว ซึ่งก็คงเป็นผลทางจิตวิทยาได้เหมือนกัน
ในอดีตพุทธศาสนายังไม่แผ่ขยายเข้ามา ชาวอีสานเชื่องเรื่องผีอย่างมากมาย เชื่อว่าผีฟ้าหรือผีที่อยู่บนฟ้า เป็นผีที่ได้สร้างสมบรมีคุณความดีไว้มาก จึงได้ไปเกิดบนเมืองฟ้า เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามาถึงชาวอีสาน ความเชื่อเรื่องผีที่อยู่บนฟ้าจึงมีเพิ่มขึ้น แล้วก็มีเทวดา พระอินทร์
พระพรหม แต่พิธีกรรมยังคงมีอยู่

ลักษณะเฉพาะของลำส่อง (ลำผีฟ้า)

ลักษณะของลำส่อง (ลำผีฟ้า)
หมอลำผีฟ้า มีอยู่ ๒ ประเภท
๑.การยอมรับเป็นผีฟ้าด้วยความสมัครใจ ครูบาอาจารย์ก็ยอมรับลูกศิษย์จึงได้ทำพิธียกฮ่านให้
๒.เกิดจากความต้องการของผีฟ้า ประเภทนี้จะพบว่าผู้ที่จะมารับตำแหน่งหมอลำผีฟ้าจะเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมาก่อน แล้วได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุของการเจ็บป่วยว่ามาจากการกระทำของผีฟ้า ซึ่งอยากให้ผู้ป่วยมาเป็นหมอ หากไม่ยอมรับอาการป่วยก็จะไม่หาย
ลักษณะของประเภทแรกนั้น ผู้เป็นลูกศิษย์ต้องติดตามอาจารย์ไปรักษาผู้ป่วยและช่วยจัดอุปกรณ์ในพิธีกรรมอยู่หลายปี อาจารย์จึงได้อนุญาตให้เป็นผู้สืบทอดวิชาได้ ส่วนลักษณะของ
ประเภทที่สองนั้นได้รับคำอธิบายว่าผีฟ้าต้องการให้เป็นหมอซึ่งจะปฏิเสธไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะไม่อยากทำหน้าที่หมอก็ตาม นอกจากนั้นเมื่อยอมรับความเป็นหมอลำผีฟ้าแล้ว ต้องมีการปฏิบัติตามธรรมเนียมให้ถูกต้องด้วย ถ้าทำไม่ถูกต้องก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมาอีก

องค์ประกอบของลำส่อง (ลำผีฟ้า)

องค์ประกอบของลำส่อง (ลำผีฟ้า)
หมอลำทรงและหมอลำผีฟ้าจะมีองค์ประกอบที่คล้ายกันมาก จะแตกต่างกันบางเรื่องของคายและผีที่เชิญมาเทียบหรือมาเข้าทรง
บุคลากรในคณะ
๑. หัวหน้าคณะ (ครูบา) ผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะหรือครูบานั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการครอบมาจากครูแล้ว การลำทรงและลำผีฟ้าจะมีการสืบทอดกันเป็นช่วง กล่าวคือ เมื่อหัวหน้าคณะคนก่อนมีอายุมากไม่สะดวกต่อการไปมา ก็จะมอบหน้าที่ให้ศิษย์เอกที่ถือว่าเป็นฉลาดหลักแหลมที่สุด
สามารถจะดำเนินการต่อจากหัวหน้าคนเก่าได้ก็จะทำพิธีครอบครูให้ เป็นการมอบตำแหน่งหัวหน้าให้โดยการจัดทำหิ้งบูชาไว้ที่บ้าน แล้วอัญเชิญผีต่าง ๆ จึงต้องเรียกว่า “อ้ายพี่” หรือ อ้ายที่คำผิว อ้ายพี่สีทน เป็นต้น
๒.ชาวคณะ ถือเป็นบริวารที่มีประสบการณ์สูงร่วมเดินทางไปรักษาคนไข้ด้วย ประมาณ ๒-๔ คน บริวารที่รับใช้ใกล้ชิด พี่จะถูกเรียกให้เป็นหัวหน้าคนต่อไปก็อยู่ในจำนวนนี้ ชาวคณะเหล่านี้จะช่วยกันลำเชิญผี เมื่อผีเข้าเทียมหัวหน้าแล้วก็จะเป็นคนถามไถ่ผีต่าง ๆ นานา ซึ่งแตละคนจะมีผีประจำตัว เช่น สีทน มโนราห์ ท้าวคำผิว เป็นต้น
๓.หมอแคน บางทีเรียกว่า หมอม้า เป็นผู้ขับม้า ม้าก็คือเหล้า ม้าขาวคือเหล้าขาว ม้าแดงคือเหล้าสี เช่น แม่โขง ม้านิล คือ เบียร์ เหล้าที่อยู่นอกคาย หมอคายส่วนใหญ่ไม่ชอบเป่าแคนให้หมอลำผีฟ้าเพราะเหนื่อย เนื่องจากการลำทรงผีฟ้าใช้เวลานานและเป่าแคนไม่ได้หยุดพัก รายได้หรือค่าใช้จ่ายก็น้อย หมอแคนส่วนใหญ่ก็ติดเหล้างอมแงม
คายรักษา
เครื่องคายรักษาของแต่ละคณะจะไม่ค่อยเหมือนกันนัก คงเป็นเพราะครูสอนครอบให้ต่างกันหรือบางครั้งหาไม่ได้ อย่างเช่น ดอกจำลาว (ดอกลั่นทม)

คายรักษาหมอลำ หมอลำผีฟ้า
- ขันหมากเบ็งพร้อมฝ้ายผูกแขน (บายศรีขนาดเล็ก)
- ขัน ๕ (ดอกไม้ ๕ คู่ เทียน ๕ เล่ม)
- ซิ่นผืน
- แพรวา (ผ้าขาวม้า ๑ ผืน)
- เหล้า ๑ ขวด
- ไข่ ๒ ใบ (บางคณะใช้ใบเดียว)
- หวี ๑ อัน
- กระจก ๑ บาน
- เงิน หนึ่งสลึง
- ห่อนิมนต์ (เทียน ๒ เล่ม ดอกไม้ ๒ ดอก ห่อด้วยใบกล้วย)
- ซวย ๕ อัน (ใบตองทำเป็นกรวย) แต่ละอันมีเทียน ๑ คู่ ดอกจำปาลาว ๑ คู่
- มาลัยดอกจำปาลาว ถ้าเป็นผีฟ้าใช้ดอกมะละกอต้นตัวผู้

บริวาร
ผู้ที่เคยผ่านการรักษามาแล้ว ทุกคนถือเป็นบริวารของผีทรงและของผีฟ้า เวลาคณะหมอลำ
ทรงลำผีฟ้าไปลำ ณ ที่ใด ถ้าไม่ห่างไกลเกินไปบริวารเหล่านี้ก็จะไปร่วมพิธีด้วย นำดอกไม้เทียนและสิ่งของต่าง ๆ ไปร่วมบูชาด้วย บางคนอาจมีอาการไม่สบาย ก็จะแต่งคายรักษาไปร่วมด้วย แม่หมอจะบอกหรือพูดกับผีให้มาช่วยรักษาบริวาร ทุกคนต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมของผีฟ้าอย่างเคร่งครัด จะไม่มีเครื่องของขลังใด ๆ มาถือติดตัว พิธีกรรมนั้นจะได้สนุกสนานทั้งฟ้อนรำได้อย่างอิสระ บางแห่งมีบริวารมาก ๑๐ – ๒๐ คน เข้าพิธีด้วย ผู้ชมก็ได้ชมได้ฟังและสนุกไปด้วยอยู่บ้าง
พร้อมกับเห็นอกเห็นใจและเอาใจช่วยคนไข้ด้วย เป็นการให้กำลังใจแก่คนไข้
ผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่มาทำการรักษาด้วยหมอลำทรงลำผีฟ้านั้น ปกติจะผ่านการรักษาทางกายมาก่อน จะมีทางรักษาแบบพื้นบ้าน ถ้ารักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนโบราณไม่หายต้องเป็นเรื่องของผีแน่นอน ต้องลำรักษาจึงจะหาย ชาวบ้านคิดว่าการพูดกับผีนั้นไม่ยาก แต่ต้องอาศัยจ้ำหรือแม่หมอทรงมาช่วยพูดให้ โดยยินดีจัดเครื่องบูชาและปฏิบัติตามคำแนะนำของผีทุกอย่าง เขาถือว่าสาเหตุที่เจ็บป่วยนั้นเกิดจากผี จะต้องดูแลด้วยวิธีเชิญผีมารักษาดูแล โดยยอมเป็นบริวารของผีตั้งแต่มีชีวิตอยู่ มีบางคนเกิดความเชื่อเกิดความศรัทธาต่อผี ยอมเข้ามาเป็นบริวารทั้ง ๆ ที่ยังไม่เจ็บป่วยอะไร คือ ยังไม่ทันป่วยก็เลือกที่จะอยู่กับผีฟ้า หรือจะไปอยู่กับธรรม
การแต่งกาย
ในเรื่องการแต่งกาย เท่าที่พบเห็นมาไม่แน่นอน เห็นแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ใหม่ ๆ บางคณะจะมีผ้าสไบพาดบ่า หรือผ้าขาวม้าพาดบ่า นุ่งซิ่นใหมมัดหมี่ มีดอกไม้ทัดหู แต่บางคณะก็ใส่เสื้อผ้าธรรมดา มีบางคณะผีเป็นผู้บอกว่าให้แต่งตัวอย่างไร ผู้ป่วยต้องแต่งตามคำแนะนำของหัวหน้าคณะ จึงจะถือว่าเข้าเป็นบริวาร คณะที่แต่งตัวธรรมดานั้น การเข้าเป็นสมาชิกคือ มานั่งอยู่ต่อหน้าคายรักษา แล้วหันน้าเอาฝ้ายผูกแขนก็ถือว่าเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ในคณะลำทรงส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่สูงอายุแล้ว การที่จะแต่งตามลักษณะตัวละครเหมือนลำหมู่คณะคงจะไม่เหมาะ