วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ลำดับขั้นตอนและวิธีการลำรักษา

ลำดับขั้นตอน และวิธีการรักษา
การลำส่อง หมายถึง การลำหาข้อผิดข้องหมองใจ ข้อผิดพลาดของผู้ป่วย หาสาเหตุของการป่วย คนไข้บางคนอาจมีการดูหมอหรือทางอีสานเรียกว่าดูมอก่อน เมื่อหมอมอ (หมอดู) ชี้ว่าเกิดจากผีควรเอาลำทรงมารักษา ญาติพี่น้องของผู้ป่วยก็จะไปติดต่อคณะหมอลำทรงมาทำการรักษา หมอลำทรงทุกคณะจะปฏิเสธไม่ได้ จะไกล้หรือไกลก็ต้องไป ค่ารักษานอกจากคายแล้วจะเรียกร้องไม่ได้ แต่ผู้ที่มาติดต่อก็ทราบโดยการสอบถามบริวารใกล้ชิดว่าควรจะตอบแทนเท่าไร หัวหน้าคณะรวมทั้งชาวคณะจะช่วยกันสอบถามประวัติคนไข้อย่างละเอียด เช่น อาการเป็นอย่างไร เคยรักษาด้วยวิธีใด จากที่ไหนบ้าง ผลเป็นอย่างไร ญาติพี่น้องเป็นอย่างไร มีการทะเลาะเบาะแว้งกันหรือไม่ การทำมาหากินมีความขัดแย้งกันอย่างไรบ้าง และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง เมื่อตกลงวันเวลากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางด้านเจ้าภาพก็เดินทางกลับมาจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องคายรักษาอาหารการกิน ฝ่ายคณะหัวหน้าก็จะทำพิธีบอกกล่าวครูบาแล้วเชิญไป ณ ที่จะทำการรักษา
เมื่อไปถึงบ้านผู้ป่วย ญาติพี่น้องจัดเตรียมคายรักษาไว้เรียบร้อยแล้ว หัวหน้าก็จะลำบูชาครูบาก่อนแล้วเชิญผีมาเทียม การลำส่องจะใช้เวลายาวนานมาก เนื่องจากหัวหน้าจะต้องลำถามผีไล่เรียงกันไป ผีไร่ ผีนา ผีป่า ผีภู ผีปู่ตา หรือผีหลักเมือง ถ้ายังไม่เจอก็จะถามไปเรื่อย ๆ เมื่อผู้ป่วยผิดผีตนใด ผู้เข้าทรงจะแสดงอาการ เช่น ตัวสั่นอย่างแรง แสดงอาการโกรธพูดจาด้วยเสียงอันน่ากลัว บริวารในคณะก็จะพูดขออ่อน ขอยอม ขอโทษ ต่าง ๆ นานา จะแก้ไขในสิ่งไม่ดี ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกันไปถึงญาติพี่น้อง ทุกคนก็จะเข้ามารับปากรับคำว่าจะทำตาม เพื่อผ่อนคลายไปในทางที่ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือ เครื่องบูชาผีตนนั้น หลังจากผีใจอ่อนยอมผ่อนปรนให้แล้วก็จะออกจากร่างทรงไป หัวหน้าจะผูกข้อผู้แขนผู้ป่วย แล้วแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวให้และนัดวันที่จะมาทำการรักษาต่อไป ในบางครั้งผู้ป่วยเพียงแต่ผิดที่บ๋า (บน) แล้วไม่ปง (ไม่แก้บน) หัวหน้าคณะก็จะบอกให้แก้บนซะก็จะเสร็จ ไม่ต้องมารักษา ยกเว้น ว่าแก้บนแล้วยังไม่หายดี
การเลี้ยงข่วง ก็คือการมาชุมนุมของบริวารผีทรงและผีฟ้า ทุกคนจะมีอุปกรณ์เครื่องบูชาคายรักษามาร่วมด้วย จากนั้นก็จะช่วยกันจัดทำเครื่องคายรักษา ทั้งข้าวปลาอาหารต่างหามาร่วมกันทำ ช่วยกันทำเป็นกิจกรรมที่ใหญ่พอสมควร หัวหน้าจะเชิญผีต่าง ๆ มาเทียมคือมาเข้าสิง เมื่อผีมาเข้าสิงแล้วทุกคนก็จะได้ร้องรำสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ เป็นการปล่อยอารมณ์ได้อย่างอิสระต่างพูดจาก
ทักทายกันหยอกเย้ากันในระหว่างผีกับผีอย่างไม่ถือชั้นวรรณะ ผีฟ้าจะเลี้ยงข่วงในช่วงเดือน ๓ ส่วนผีทรงหรือลำทรงจะเลี้ยงข่วงเดือน ๕ ปกติจะเป็นหลังสงกรานต์ นับว่าเป็นกิจกรรมที่เชื่อมความสัมพันธ์กันดีมาก การเลี้ยงข่วงถือเป็นประเพณีถึงเวลาแล้วจะไปกันเอง โดยไม่ต้องบอกกล่าว หากมีความจำเป็นจริง ๆ ไปไม่ได้ก็ต้องฝากเครื่องคายไปร่วมด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: