วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551

การสืบทอดและการเรียนรู้

การสืบทอดและการเรียนรู้
หมอลำผีฟ้าต้องมีครูอาจารย์ทุกคน ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอลำผีฟ้ามาหลายปีแล้วก่อนที่จะเสียชีวิตหรือก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น จะคัดเลือกลูกศิษย์ให้ขึ้นมาทำหน้าที่แทน โดยการยกฮ่านให้ และเมื่อผู้ใดมีฮ่านของตนเองก็ถือว่าผู้นั้นเป็นหมอลำผีฟ้าต่อไป
ในการสืบทอดการเป็นหมอลำผีฟ้านั้นพบว่า หมอลำผีฟ้าผู้หนึ่งสามารถสืบทอดการเป็นหมอลำผีฟ้าให้กับผู้อื่นได้ไม่จำกัด แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีผู้มารับการสืบทอดประมาณ ๒-๓ คน โดยวิธีเลือกลูกศิษย์ผู้มี่มีความใกล้ชิดตนเอง หรือเลือกจากการ “ส่องดู” อันหมายถึง ผู้ที่ผีฟ้ามีความต้องการจะให้ผู้นั้นเป็นหมอลำผีฟ้า หลังจากนั้นก็จัดทำพิธียกฮ่านให้ โดยครูบาอาจารย์และหมอที่ได้รับฮ่าน จะมาช่วยกันทำพิธียกฮ่านให้กับหมอคนใหม่ โดยครูอาจารย์จะอันเชิญ “พ่อแม่” ในที่นี้หมายถึง ผีฟ้ามาอยู่ฮ่านใหม่ ฮ่านจึงถือว่าเป็นตัวแทนของผีฟ้าหรือเป็นที่สถิตด้วยการร้องรำ และการฟ้อน วิธีการเรียนรู้วิชาของหมอลำผีฟ้าทุกคนบอกไว้ว่า “ไม่มีตำราที่เรียนเป็นตัวหนังสือจากอาจารย์ กระบวนการเรียนเป็นเพียงการสังเกตของผู้ที่เป็นลูกศิษย์เท่านั้นที่สังเกตดูพฤติกรรมของผู้เป็นอาจารย์และนำมาปฏิบัติตาม” แม้แต่เรื่องการลำและการฟ้อนทั้งผู้ที่เป็นหมอและลูกศิษย์บอกว่า “ทางเทิงจะมาเข้าสิงแล้วคนที่ไม่เคยลำเคยฟ้อนมาก่อนก็ลำเป็นฟ้อนเป็น” แต่ผู้ที่เป็นหมอต่างกันกับลูกศิษย์อยู่ที่ว่าสามารถเข้าทรงหรือหยุดเข้าทรงได้ตามความต้องการของตน ส่วนลูกศิษย์จะเข้าทรงได้ก็ต่อเมื่อมีหมอเป็นผู้ทำพิธีกรรม ถ้าไม่มีหมอไม่สามารถเข้าทรงได้ และการฟ้อนของลูกศิษย์ในพิธีกรรมก็ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ต้องมีคำสั่งของหมอ “หยุดเข้า” จึงจะหยุดฟ้อนได้ การควบคุมการเข้าทรงได้ของหมอจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างจากผู้อื่น และความสามารถนี้ต่างก็บอกว่าจะเกิดขึ้นเองเมื่อผู้เป็นหมอได้รับฮ่านแล้วเท่านั้น
สรุปแล้ว การสืบทอดความรู้ด้านพิธีกรรมและการปฏิบัติตนในการทำหน้าที่หมอลำผีฟ้าไม่ได้เป็นไปอย่างมีระบบ ผู้ติดตามหรือลูกศิษย์ต้องเรียนรู้เอง โดยการสังเกตพฤติกรรมของครูอาจารย์ หมอลำผีฟ้าเกิดจากวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่กำหนดบทบาทให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย และการลำหรือฟ้อนก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา ผู้ที่อยู่ภาคอีสานส่วนใหญ่มักมีโอกาสที่จะได้พบเห็นเคยได้ยินได้ฟังมา ส่วนวิธีการเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในพิธีกรรมหรือแม้กระทั่งลักษณะของตัวพิธีกรรมเองก็ใกล้เคียงกับพิธีกรรมอื่น ๆ ที่ปฏิบัติกันอยู่ในท้องถิ่นอีสาน เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีเลี้ยงผีตาแฮก เป็นต้น ดังนั้น การเรียนรู้พิธีกรรมเหล่านี้จึงไม่ต้องอาศัยตำราแต่อย่างใด เพียงอาศัยการสังเกตจดจำแล้วนำมาปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น: